การติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม

รายงานการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม (Independent Oversight Entity : IOE)
วัตถุประสงค์

เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 25/1-25/3 ของประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2563 และมาตรา 124/1 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 ซึ่งกำหนดให้ บลจ. จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งมีหน้าที่ติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวมในเรื่อง (1) การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (2) การกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน (3) การกระทำที่อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ

แนวทางการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม ประจำปี 2566
บริษัทได้จัดทำแนวทางในการดำเนินการเพื่อใช้ในการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม ประจำปี 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยแนวทางนั้นมีความเหมาะสมกับการติดตามการปฏิบัติงานในปัจจุบันและสอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดไว้ ดังนี้

1.  กำหนดขอบเขตของการติดตามดูแลฯ ครอบคลุมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้ ได้แก่
      1.1  การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินที่ไม่มีราคาตลาดหรือที่ไม่มีสภาพคล่อง
       1.2  วิธีการบริหารจัดการกองทุนรวมตามที่เปิดเผยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
       1.3  การคัดเลือกและติดตามการให้บริการของผู้ให้บริการ
       1.4  การส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงิน
       1.5  การเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน
       1.6  การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์
       1.7  อื่นๆ เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำและทบทวนนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการให้ความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ กรณีที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน
2.  กำหนดวิธีการติดตามดูแล
3.  กำหนดระยะเวลาในการติดตามดูแล
4. กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงานเป็นผู้ดำเนินการในการติดตามดูแลให้เป็นไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้ตามข้อ 1
5.  กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงานเป็นผู้รายงานผลการดำเนินการและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท พร้อมนำส่งสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ทั้งนี้ ในกรณีที่พบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมหรืออาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ ให้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทและสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำดังกล่าว
6.  กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงาน เป็นผู้จัดทำความเห็นในเรื่องดังต่อไปนี้
    6.1  นโยบายป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยจัดทำความเห็นทุกครั้งที่มีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว
    6.2  การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ วิธีการจัดการ ที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจัดทำความเห็นทุกครั้งพร้อมการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน

รายงานการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม ประจำปี 2565
จากการติดตามดูแลจัดการกองทุนรวมตามขอบเขตที่กำหนดรวม 7 เรื่อง บริษัทมีการปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนด โดยไม่พบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือไม่เป็นธรรม หรือทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ สรุปผลได้ดังนี้

1.  การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินที่ไม่มีราคาตลาดหรือที่ไม่มีสภาพคล่อง
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีการควบคุมในเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวม เพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในการทำรายการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทมีการใช้ราคาที่เหมาะสมในการทำธุรกรรม มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและเป็นไปตามหลักความสม่ำเสมอ (consistency) และเป็นธุรกรรมที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า หรือจำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อกองทุนในสถานการณ์นั้น โดยมีลักษณะธุรกรรมที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับบุคคลทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm's length transaction)

2.  วิธีการบริหารจัดการกองทุนรวมตามที่เปิดเผยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีระบบงานในการควบคุมระบบการจัดการลงทุนที่ดี ผู้จัดการกองทุนบริหารกองทุนรวมเป็นไปตามนโยบายการลงทุน วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์การลงทุน สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในโครงการ / หนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนรวม โดยมีการกำหนดดัชนีชี้วัด (Benchmark) เพื่อวัดผลการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องเป็นไปตามนโยบายการลงทุนตามที่­ได้เปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนได้ทราบ พอร์ตการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและดัชนีชี้วัดตามที่ประกาศกำหนด

3.  การคัดเลือกและติดตามการให้บริการของผู้ให้บริการ
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้รับมอบหมายงานด้านการจัดการลงทุนในต่างประเทศ (Outsource) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด และสิ้นปี 2565 บริษัทได้มีการประเมินคุณภาพผู้รับมอบหมายงานด้านการจัดการลงทุนในต่างประเทศครบถ้วนทุกรายอย่างเท่าเทียมกันโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

4.  การส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงิน
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและประเมิน Broker / Counter Party เหมาะสมแล้ว และมีการกำหนดปริมาณการส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินผ่าน Broker / Counter Party สอดคล้องกับผลการประเมิน โดยในปี 2565 บริษัทส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน Broker / Counter Party เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและอยู่ในปริมาณที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการลงทุน ไม่ได้มุ่งเน้นการทำรายการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของบริษัทหรือส่งให้รายการให้รายใดมากเป็นพิเศษ มีการรายงานปริมาณการทำรายการซื้อ/ขายหลักทรัพย์ผ่าน Broker / Counter Party ต่อคณะกรรมการลงทุนทุกไตรมาสและมีเอกสารประกอบการรายงานครบถ้วน

5.  การเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทกำหนดแนวทางในการพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล โดยกองทุนประเภทเดียวกัน มีนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนใกล้เคียงกันมีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกัน บริษัทกำหนดปัจจัยที่­ใช้พิจารณาในการกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนรวมมีความสมเหตุสมผล ทั้งกรณีของกองทุนใหม่หรือกองทุนเก่าที่มีการเปลี่­ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียม โดยต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ Product Development Committee (PDC) และมีการเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจริงของกองทุนรวมถึงอัตราธรรมเนียมการจัดการที่สามารถเรียกเก็บได้สูงสุดถูกต้องครบถ้วนและชัดเจนในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญรวมถึงการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของบริษัท

6.  การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไปใช้สิทธิออกเสียงแทนกองทุนและเปิดเผยรายงานการใช้สิทธิออกเสียงครบถ้วนทุกหลักทรัพย์ เป็นไปตามที่แนวทางการใช้สิทธิออกเสียงของบริษัทและหลักเกณฑ์กำหนด โดยความเห็นใช้สิทธิออกเสียงของแต่ละวาระต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการลงทุน ซึ่งจะคำนึงถึงประโยชน์ของกองทุนเป็นสำคัญและมีข้อมูลหรือเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน  รวมทั้งเปิดเผยรายงานการใช้สิทธิออกเสียงประจำปี 2565 บนเว็บไซต์ของบริษัทเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างการสอบทานรายงานการใช้สิทธิออกเสียงในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่ามีการจัดทำรายงานการใช้สิทธิออกเสียงไม่ถูกต้อง 2 รายการ ซึ่งได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และบริษัทได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำไปเปิดเผย ทั้งนี้รายงานการใช้สิทธิออกเสียงประจำปี 2565 ที่เปิดเผยบนเว็บไซต์ของบริษัทเป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบว่าถูกต้องและครบถ้วนแล้ว

7. อื่นๆ เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำและทบทวนนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการให้ความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ กรณีที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน
บริษัทจัดทำนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเหมาะสม คำนึงถึงการรักษาปกป้องผลประโยชน์ที่­ดีที­สุดของลูกค้าและ/หรือผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญและเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด โดยบริษัทกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายเป็นประจำทุกปี ในปี 2565 บริษัทได้จัดให้มีการทบทวนนโยบายและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทได้จัดให้มีการขอมติพิเศษให้แก้ไขโครงการจำนวน 2 กองทุน จากการตรวจสอบพบว่าขั้นตอนการดำเนินการขอมติถูกต้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่­ประกาศกำหนด

รายละเอียดผลการติดตามดูแลประจำปี 2565 คลิก: รายงานผลการติดตามดูแลประจำปี 2565

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน