Independent Oversight Entity (IOE)

Independent Oversight Entity (IOE) Result Report
วัตถุประสงค์

เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 25/1-25/3 ของประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2563 และมาตรา 124/1 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535  ซึ่งกำหนดให้ บลจ. ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินลงทุนให้ผู้ลงทุน จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และมีหน้าที่ติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวมในเรื่อง  (1) การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (2) การกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน (3) การกระทำที่อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ
 

แนวทางการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวมประจำปี 2567

บริษัทได้จัดทำแนวทางในการดำเนินการเพื่อใช้ในการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม ประจำปี 2567 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยแนวทางนั้นมีความเหมาะสมกับการติดตามการปฏิบัติงานในปัจจุบันและสอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดไว้ ดังนี้

1.  กำหนดขอบเขตของการติดตามดูแลฯ ครอบคลุมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดไว้ ได้แก่

        1.1  การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินที่ไม่มีราคาตลาดหรือที่ไม่มีสภาพคล่อง

        1.2  วิธีการบริหารจัดการกองทุนรวมตามที่เปิดเผยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

        1.3  การคัดเลือกและติดตามการให้บริการของผู้ให้บริการ

        1.4  การส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงิน

        1.5  การเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน

        1.6  การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์

        1.7  อื่นๆ เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำและทบทวนนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการให้ความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ กรณีที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน

2.  กำหนดวิธีการติดตามดูแล

3.  กำหนดระยะเวลาในการติดตามดูแล

4.  กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงานเป็นผู้ดำเนินการในการติดตามดูแลให้เป็นไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้ตามข้อ 1

5.  กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงานเป็นผู้รายงานผลการดำเนินการและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท พร้อมนำส่งสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ทั้งนี้ ในกรณีที่พบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการกระทำที่อาจมีลักษณะไม่เป็นธรรมหรืออาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ ให้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทและสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำดังกล่าว นอกจากนี้ ให้เปิดเผยข้อมูลผลการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบภายในไตรมาส 1 ของทุกปี

6.  กำหนดให้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงาน เป็นผู้จัดทำความเห็นในเรื่องดังต่อไปนี้

        6.1  นโยบายป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยจัดทำความเห็นทุกครั้งที่มีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว

        6.2  การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ วิธีการจัดการ ที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจัดทำความเห็นทุกครั้งพร้อมการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน

รายงานการติดตามดูแลการจัดการกองทุนรวม ประจำปี 2566

จากการติดตามดูแลจัดการกองทุนรวมตามขอบเขตที่กำหนดรวม 7 เรื่อง บริษัทมีการปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนด โดยไม่พบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือไม่เป็นธรรม หรือทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์อันพึงได้รับ สรุปผลได้ดังนี้

1.  การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินที่ไม่มีราคาตลาดหรือที่ไม่มีสภาพคล่อง

จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีการควบคุมในเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวม เพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในการทำรายการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทมีการใช้ราคาที่เหมาะสมในการทำธุรกรรม มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและเป็นไปตามหลักความสม่ำเสมอ (consistency) และเป็นธุรกรรมที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า หรือจำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อกองทุนในสถานการณ์นั้น โดยมีลักษณะธุรกรรมที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับบุคคลทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm's length transaction)

2.  วิธีการบริหารจัดการกองทุนรวมตามที่เปิดเผยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทได้กำหนดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมไว้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุน และได้เปิดเผยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ข้อสงวนสิทธิ์ และการพิจารณาใช้เครื่องมือไว้ครบถ้วนและชัดเจน เป็นการเผยแพร่การใช้เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้ผู้ลงทุนรับทราบครบถ้วนแล้ว ซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนด

3.  การคัดเลือกและติดตามการให้บริการของผู้ให้บริการ

จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ที่มีรายชื่อที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และไม่เคยถูกสั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าว รวมไปถึงมีระบบงานที่มีความพร้อม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด นอกจากนี้ ณ สิ้นปี ได้มีประเมินคุณภาพผู้ดูแลผลประโยชน์ทุกรายโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน อนึ่ง สำหรับในปี 2566 ไม่มีการคัดเลือกผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่

4.  การส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงิน

จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและประเมิน Broker / Counter Party เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการกำหนดปริมาณการส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนและตราสารทางการเงินผ่าน Broker / Counter Party สอดคล้องกับผลการคัดเลือกและประเมิน โดยในปี 2566 บริษัทส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน Broker / Counter Party เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นไปตามรายชื่อ Broker / Counter Party และสัดส่วนตามที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการลงทุน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการทำรายการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของบริษัทหรือส่งให้รายใดมากเป็นพิเศษ และมีการรายงานปริมาณการทำรายการซื้อ/ขายหลักทรัพย์ผ่าน Broker / Counter Party ต่อคณะกรรมการลงทุนทุกไตรมาสและมีเอกสารประกอบการรายงานครบถ้วน

5.  การเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน

จากการตรวจสอบพบว่าการกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนรวมที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุนรวมทั่วไป ที่มีนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุนเหมือนกัน มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน โดยปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนรวม ได้แก่ นโยบายการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุน ชนิดและกลุ่มของผู้ลงทุน และในการกำหนดค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนรวมและการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนรวมนั้นจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ PDC ทั้งนี้ การเปิดเผยค่าอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจริงของกองทุน รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการที่สามารถเรียกเก็บได้สูงสุด มีการเปิดเผยถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจนในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนได้มีการประกาศบนเว็บไซต์ของบริษัทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของบริษัท

6.  การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์

จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไปใช้สิทธิออกเสียงแทนกองทุนและเปิดเผยรายงานการใช้สิทธิออกเสียงครบถ้วนทุกหลักทรัพย์ เป็นไปตามที่แนวทางการใช้สิทธิออกเสียงของบริษัทและเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด โดยความเห็นใช้สิทธิออกเสียงของแต่ละวาระต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการลงทุน ซึ่งจะคำนึงถึงประโยชน์ของกองทุนเป็นสำคัญและมีข้อมูลหรือเอกสารประกอบการพิจารณาครบถ้วน รวมทั้งรายงานการใช้สิทธิออกเสียงประจำปี 2566 ได้เปิดเผยบนเว็บไซต์ของบริษัทครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

 7.  อื่นๆ เช่น การให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำและทบทวนนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการให้ความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ กรณีที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน

บริษัทจัดทำนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งคำนึงถึงการรักษาปกป้องผลประโยชน์ที่­ดีที่สุดของลูกค้าและ/หรือผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญและเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด โดยในปี 2566 ได้มีการสอบทานและให้ความเห็นในการทบทวนหรือปรับปรุงนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทแล้ว สำหรับการให้ความเห็นการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ ในปี 2566 บริษัทไม่มีการขอมติแก้ไขโครงการกรณีที่ต้องได้รับมติพิเศษจากผู้ถือหน่วยลงทุน

 See  report  2023  (English Version)   Click here

Investing in Krungsri Asset Funds

We have offered a variety of funds for investors with different risk profiles.