1. ความเสี่ยงจากการลงทุนใน Private Equity
- การลงทุนใน private equity มักมีความเสี่ยงที่แตกต่างไปจากการลงทุนประเภทอื่นเช่น การลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวอาจเป็นการลงทุนในกิจการที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นาน จึงมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจน้อยและสินค้าของบริษัทยังไม่มีตลาดที่ชัดเจน หรือกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง เป็นต้น ดังนั้น ประมาณการการเติบโตของมูลค่าการลงทุนจึงมีความไม่แน่นอนมากกว่าการลงทุนประเภทอื่น
- ในขณะที่การลงทุนใน private equity ให้ความสำคัญกับศักยภาพในการให้ผลตอบแทน กองทุนและบริษัทในลักษณะนี้อาจจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางธุรกิจและฐานะทางการเงิน จึงไม่อาจรับประกันได้ว่าการใช้เงินลงทุนของกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์จะได้รับผลกำไร การลงทุนใน private equity, กองทุนประเภท Venture Capital Funds และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สถานการณ์ดังต่อไปนี้
- กองทุนอาจลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนที่สูงกว่า บริษัทเหล่านี้จะไม่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง ไม่มีการรับประกันว่าผู้จัดการบริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามวัตถุประสงค์ และไม่มีการรับประกันว่าการลงทุนของกองทุนจะให้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทเหล่านี้
- การเข้าร่วมลงทุนของกองทุนอาจทำให้กองทุนถูกจำกัดสิทธิในฐานะของผู้ถือหุ้น จึงอาจไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวได้ บริษัทอาจมีอำนาจการควบคุมในโครงสร้างหรือลักษณะของการร่วมลงทุนน้อยหรือไม่มีเลย จึงต้องอาศัยทักษะและความสามารถของผู้จัดการการลงทุน (ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก) ในการคัดเลือก ประเมิน ออกแบบโครงสร้าง เจรจาต่อรอง และติดตามโครงการร่วมลงทุน นอกจากนี้ กองทุนที่เป็น Private equity Fund ที่กองทุนไปลงทุน ผู้ลงทุนรายอื่นอาจใช้สิทธิออกเสียงเพื่อเลิกกองทุนได้ ในขณะที่กองทุนไม่มีความประสงค์ที่จะออกเสียงในเรื่องดังกล่าว
- บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มักจะขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทเพียงไม่กี่คน และบริษัทเหล่านี้มักจะมีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้น การลงทุนในกองทุนนี้ควรเป็นการลงทุนในระยะยาว
2. ความเสี่ยงจากการลงทุนใน Private Equity Funds และกองทุนของ Private Equity Funds
- กองทุนนี้สามารถลงทุนใน Private Equity Funds และกองทุนของ Private Equity Funds ที่จัดตั้งภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่มีการกำกับดูแลกองทุนจากทางการน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลยังอาจได้รับผลกระทบจากการไม่มีแนวทางด้านการลงทุนและการกระจายความเสี่ยงมาบังคับใช้ รวมถึงความยืดหยุ่นของนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้
- การขาดการกำกับดูแลทั้งในระดับกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) และกองทุนอ้างอิงที่ลงทุน (Underlying Fund) อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุน
- ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนนี้จะมีภาระค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุนทางอ้อมที่เรียกเก็บโดยผู้จัดการการลงทุนของ Private Equity Fund, กองทุนของ Private Equity Fund และการลงทุนประเภท Private Equity Investments ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่กองทุนนี้ไปลงทุน
- กองทุนนี้อาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนตามผลการดำเนินงาน (Performance Fee) ทางอ้อมที่เรียกเก็บโดย Private Equity Fund, กองทุนของ Private Equity Fund และการลงทุนประเภท Private Equity Investments ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่ละราย แม้ว่าในขณะนั้นกองทุนนี้มีผลตอบแทนติดลบหรือเป็นศูนย์ก็ตาม
3. ความเสี่ยงจากคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน (Redemption Requests)
หุ้นของบริษัทที่ลงทุนอาจไม่สามารถขายออกได้อย่างรวดเร็ว จึงอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของกองทุนและความสามารถของกองทุนในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งของผู้ถือหน่วยลงทุน
4. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
- การลงทุนใน Private equity ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีสภาพคล่องต่ำ ซึ่งไม่มีคุณลักษณะของสภาพคล่องและความโปร่งใสที่มักพบในการลงทุนประเภทอื่น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน
- การขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินทางการเงินอื่นที่กองทุนลงทุนอาจทำได้ลำบาก และสภาพคล่องของการลงทุนจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกลยุทธ์ในการขายทรัพย์สินของกองทุนโดยผู้จัดการการลงทุน กลยุทธ์เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัจจัยหลายประการ มีความเสี่ยงที่กองทุนอาจไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนจากการขายหรือการจำหน่ายหลักทรัพย์ ณ ราคาที่ให้ผลตอบแทนดี หรือในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาด หรืออาจไม่สามารถขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ผลขาดทุนที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นกับกองทุนก่อนที่จะ ได้รับกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากเงินลงทุนหรือผลกำไรที่ได้รับจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ (ถ้ามี) มักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนไปแล้วเท่านั้น
- อาจเป็นการยากในการไถ่ถอนการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป หรือขายให้กับผู้ร่วมลงทุนรายอื่นหรือผู้ร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ หรือผู้ลงทุนโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม การไถ่ถอนการลงทุนในบริษัทใด ๆ ของกองทุนอาจต้องได้รับการตกลงจากผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัทนั้น ๆ หรือโดยความยินยอมของคณะกรรมการของบริษัท หรือต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและผลกำไรในการไถ่ถอนการลงทุนสำหรับการลงทุนโดยตรงอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม
- ปัจจุบันยังไม่มีตลาดที่มั่นคงสำหรับการลงทุนในตลาดรอง และแม้ว่าในระยะหลังนี้ โอกาสการลงทุนในตลาดรอง มีเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่มีตลาดรองใดที่มีสภาพคล่องเพื่อรองรับการลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้
5. ความเสี่ยงในการประเมินมูลค่าการลงทุน (Valuation Risk)
การลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อาจมีความยากลำบากในการกำหนดราคาอ้างอิงที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของพอร์ตการลงทุน การลงทุนบางประเภทอาจมีการประเมินมูลค่าบนพื้นฐานของราคาประมาณการ ดังนั้น จึงมีความผันผวนที่สูงกว่าหลักทรัพย์จดทะเบียน
6. ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหมวดอุตสาหกรรม/พิ้นที่ทางภูมิศาสตร์ (Risk Factors Relating to Industry Sectors / Geographic Areas)
กองทุนที่เน้นการลงทุนเฉพาะเจาะจงในบางอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์จะมีมูลค่าผันแปรตามปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยด้านตลาดซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพทางสังคมและการเมืองและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
7. ความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัว (Risk Factors Relating to concentration of investments risks)
ถึงแม้บริษัทจะมีนโยบายในการกระจายการลงทุนในทรัพย์สินในพอร์ตที่ลงทุน แต่ในบางขณะกองทุนก็อาจมีการลงทุนในทรัพย์สินเพียงไม่กี่ชนิด ทำให้กองทุนอาจประสบผลขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ หากทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ในสัดส่วนที่สูงมีมูลค่าลดลงหรือได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ด้วยสาเหตุอื่นใด ซึ่งรวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารที่กองทุนได้ลงทุนไว้