คำเตือนสำคัญ
1. กองทุนมีการลงทุนในหน่วย private equity ซึ่งเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว (ประมาณ 10 - 12 ปี)
2. กองทุนมีนโยบายที่จะเน้นลงทุนใน private equity โดยไม่จำกัดอัตราส่วน สามารถมีสัดส่วนการลงทุนในหน่วย private equity สูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ผ่านการลงทุนใน PE ทรัสต์ ชื่อ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I เพื่อร่วมลงทุนในลักษณะของ Venture Capital (VC) ในกิจการ Start-up ของบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างและมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนรวมทั่วไป อีกทั้งมีสภาพคล่องต่ำ ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินต้นหรือไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง กองทุนนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจในหลักทรัพย์ประเภทนี้เป็นอย่างดี และสามารถรับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น
3. กองทุนรวมนี้มีสภาพคล่องจำกัด เนื่องจากเป็นกองทุนที่ไม่เปิดให้ซื้อขายได้ทุกวันแบบกองทุนเปิดทั่วไป โดยกองทุนมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติในระหว่างอายุโครงการตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนและเมื่อครบอายุกองทุนประมาณ 12 ปีเท่านั้น
4. กองทุนมีอายุโครงการ 12 ปี แต่อาจเลิกโครงการก่อน 12 ปีได้หากผู้จัดการทรัสต์ใช้ดุลยพินิจเลิก PE ทรัสต์ ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ภายในช่วงเวลาดังกล่าว
5. กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง และ/หรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น ผลการดำเนินงานจึงอาจผันผวนมากกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเอง และข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน
6. เนื่องจากลักษณะของโครงการลงทุนของ PE ทรัสต์ กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในบริษัทซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นและ/หรือบริษัทที่อยู่ในประเภทธุรกิจที่เน้นการลงทุน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Financial tech) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)และยานยนต์ (Automotive) บริษัทเหล่านี้อาจรับภาระของภาวะในทางลบของธุรกิจและเศรษฐกิจได้น้อยกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าและก่อตั้งมานานกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่อยู่ในระยะเริ่มต้นอาจขาดประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถในด้านการบริหารจัดการ และความสามารถที่จะเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน ขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การวิจัยและการพัฒนา อีกทั้งเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้นอาจยังไม่ได้รับการทดสอบ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ออกหลักทรัพย์ในระยะเริ่มต้นมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวในด้านการดำเนินงานและการเงิน ซึ่งมีผลในทางลบต่อความอยู่รอดของผู้ออกหลักทรัพย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจเดียวกัน บริษัทเหล่านั้นอาจไม่มีประวัติการดำเนินงานที่สร้างผลกำไร หรืออาจมีประวัติการดำเนินงานที่สร้างผลกำไรอย่างจำกัดและไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ในอนาคต และอาจมีความผันผวนสูงในด้านรายได้ ค่าใช้จ่ายและผลกำไร และอาจพึ่งพาการบริหารจัดการโดยบุคลากรหลักเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คน อีกทั้งอาจมีความอ่อนไหวต่อความสูญเสียและความเสี่ยงต่อการล้มละลายที่สูงกว่า
7. กรณี PE ทรัสต์ ไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินหรือถอนตัวจากการลงทุนได้สำเร็จในเวลาหรือราคาที่ต้องการ เพื่อคืนเงินต้นและ/หรือจ่ายผลตอบแทนให้แก่กองทุนภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือภายในอายุโครงการกองทุน อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดหวังได้
8. เมื่อครบอายุโครงการ หาก PE ทรัสต์ไม่สามารถจำหน่ายหรือถอนการลงทุนในกิจการเป้าหมายได้ทั้งหมด ผู้จัดการทรัสต์หรือผู้ชำระบัญชีที่ได้รับการแต่งตั้ง อาจคืนเงินลงทุนด้วยทรัพย์สินอื่นใดที่มิใช่เงินแก่ผู้ลงทุนด้วยราคายุติธรรมหรือราคาตลาดในขณะนั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนได้ หรือผู้จัดการทรัสต์หรือผู้ชำระบัญชีที่ได้รับการแต่งตั้งอาจใช้ดุลยพินิจจำหน่ายทรัพย์สินที่เหลืออยู่ไปยังนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special-purpose vehicle) ที่จัดตั้งขึ้นและควบคุมโดยผู้จัดการทรัสต์หรือกิจการที่เกี่ยวข้องที่ราคายุติธรรมหรือราคาตลาด หรือจำหน่ายแก่บุคคลอื่นใด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนได้
9. PE ทรัสต์อาจมีการเพิ่มรอบเวลาวันปิดรับการลงทุน (Subsequent closing) และรับผู้ลงทุนรายอื่นเพิ่มในภายหลัง (Subsequent closing investor) รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนในรอบปิดรับการลงทุน (Closing) ก่อนหน้าหรือรอบแรก (Prior investor) เพิ่มเงินลงทุนได้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาก่อตั้งทรัสต์และตามดุลยพินิจของผู้จัดการทรัสต์ ผู้ลงทุนเพิ่มภายหลัง (Subsequent closing investor) นี้ จะเข้ามีส่วนร่วมในพอรต์การลงทุนของ PE ทรัสต์ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการรับผู้ลงทุนเพิ่มในภายหลัง (Subsequent closing investor) เข้ามาตามสัดส่วนเงินลงทุน โดยวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรสัดส่วนการลงทุนใน PE ทรัสต์และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (ถ้ามี) จะคำนวณโดยผู้จัดการทรัสต์ การรับผู้ลงทุนและเงินลงทุนเพิ่มนี้ อาจทำให้สัดส่วนการลงทุนใน PE ทรัสต์ของผู้ลงทุนก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงไปและอาจส่งผลให้ผลตอบแทนคาดหวังลดลงได้
10. อาจมีผู้ลงทุนรายใดใน PE ทรัสต์ที่ผิดนัดชำระเงินเรียกลงทุน (Defaulting investor) ส่งผลให้การลงทุนของ PE ทรัสต์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือสูญเสียโอกาสการลงทุน รวมถึงเกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทางกฏหมาย การเรียกร้องค่าเสียหายต่อผู้ลงทุนรายนั้น และส่งผลต่อผลตอบแทนของ PE ทรัสต์ได้
11. ผู้ลงทุนบางรายใน PE ทรัสต์อาจไม่ถูกกำหนดให้ชำระเงินลงทุนหรือไม่ถูกกำหนดให้นำเงินส่วนที่จะจัดสรรคืนไปลงทุนต่อ (Excused investor) ตามที่ตกลงไว้ หากมีเหตุที่เชื่อได้ว่า
- การลงทุนของผู้ลงทุนรายนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผู้ลงทุน รายนั้นเองและผู้ลงทุนรายดังกล่าวได้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์อย่างครบถ้วนแล้ว หรือ
- เมื่อผู้จัดการทรัสต์มีเหตุที่เชื่อได้ว่าการเข้าร่วมลงทุนของผู้ลงทุนรายใด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดจากผู้ลงทุนรายนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมีนัยยะสำคัญ หรืออาจทำให้ 1) PE ทรัสต์ไม่สามารถเข้าลงทุนหรือดำเนินการใดๆได้สำเร็จ หรือ 2) ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนหรือการดำเนินการใดๆของ PE ทรัสต์ หรือ 3) ก่อให้เกิดหน้าที่ภาระทางภาษี กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องใดๆ ไม่ว่าจะต่อ PE ทรัสต์ กิจการเป้าหมายที่จะลงทุน ผู้ลงทุนรายอื่นใด หรือบริษัทในเครือ หรือ 4) ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างมีนัยยะสำคัญ
การมี Excused investor เกิดขึ้นนี้ อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อการเรียกชำระเงินลงทุนและสัดส่วนการลงทุนของผู้ลงทุนที่เหลือใน PE ทรัสต์ อย่างไรก็ตาม การเรียกชำระเงินลงทุนจะไม่เกินจากจำนวนเงินลงทุนที่ตกลงไว้ (Committed capital)
12. ในช่วงปีแรกๆของการจัดตั้ง PE ทรัสต์ มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายการลงทุน (Realization value) อาจมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยอาจมีสาเหตุจากผลกระทบของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและการดำเนินการ อีกทั้ง PE ทรัสต์เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นของวงจรการลงทุน การประเมินมูลค่ากิจการที่เข้าลงทุนจะเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ในขณะที่มาตรฐานดังกล่าวมุ่งที่จะให้ข้อมูลที่แท้จริงเป็นธรรมของมูลค่ากิจการที่เข้าลงทุน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่มูลค่าตลาดที่แท้จริงของการลงทุนประเภท Private Equity จะเกิดขึ้นเมื่อมีการถอนหรือจำหน่ายการลงทุนนั้น
13. PE ทรัสต์ อาจมีการคืนเงินลงทุนที่ได้รับชำระแล้วแก่ผู้ลงทุน หากเงินลงทุนดังกล่าวมิได้ถูกนำไปใช้ลงทุนหรือเงินลงทุนที่ได้รับชำระมามีมูลค่าเกินกว่าความจำเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม โดยจะคืนเงินลงทุน บวกด้วยดอกเบี้ยที่อัตราเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารกรุงศรี ในช่วงเวลาที่มีการคืนเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดขึ้น หักด้วยค่าใชจ่ายทรัสต์ ภายในระยะเวลาเข้าลงทุน (Commitment period) การคืนเงินลงทุนนี้ อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้
14. PE ทรัสต์ มีการตั้งเงินสำรองเพื่อการบริหารจัดการ เพื่อการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อชำระค่าใช้จ่ายหรือภาระผูกพันต่างๆ หรือเพื่อวัตถุประสงค์โดยชอบอื่นใด และกองทุน KFFVPE-UI มีการตั้งเงินสำรองเพื่อชำระค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายหรือภาระผูกพันต่างๆ การตั้งสำรองเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อจำนวนเงินลงทุนและกระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนจะทยอยได้รับระหว่างอายุกองทุน อาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าการไม่มีการตั้งเงินสำรอง
15. PE ทรัสต์อาจนำเงินที่พึงจัดสรรคืนให้แก่กองทุนไปลงทุนต่อ (Reinvestment) หรือชำระค่าใช้จ่ายของ PE ทรัสต์ หรืออาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์โดยชอบอื่นใด ดังนั้น กองทุนอาจมิได้รับชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนในระยะเวลาและอัตราตามที่คาดหวัง
16. PE ทรัสต์อาจจัดสรรคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนด้วยหลักทรัพย์อื่นที่มิใช่เงินแก่กองทุน เว้นแต่กองทุนได้ยื่นความประสงค์ต่อผู้จัดการทรัสต์ถึงการรับคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนเป็นเงินเท่านั้น โดยผู้จัดการทรัสต์จะใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการขายหลักทรัพย์ในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อคืนเงินให้แก่ผู้ลงทุน และการขายนั้นจะต้องกระทำด้วยราคาตลาดที่ยุติธรรม ในกรณีที่ขายแก่บุคคลที่สาม ผู้จัดการทรัสต์จะใช้ความพยายายอย่างเต็มที่ในการขายเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุดในขณะนั้น แต่ก็มิอาจรับประกันได้ว่าราคาที่ขายได้ จะเป็นราคาที่ดีที่สุด นอกจากนั้น ผู้ลงทุนจะต้องชำระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการขายหลักทรัพย์นั้น
17. โอกาสการเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- กองทุนนี้มีนโยบายลงทุนในหน่วย private equity ของ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ที่มีบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เป็นผู้จัดการทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มธนาคารกรุงศรี อยุธยา จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกันกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของกองทุนนี้
- บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในฐานะผู้จัดการทรัสต์ ของ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I อาจมีการลงทุนในกิจการ Startup หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เช่นเดียวกันกับที่บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในฐานะผู้จัดการทรัสต์จะลงทุนในกิจการStartup หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น เพื่อ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I
- บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในฐานะผู้จัดการทรัสต์ อาจมีการลงทุนหรือทำสัญญาหรือเข้าทำธุรกรรมเพื่อ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ในกิจการเป้าหมาย หรือกิจการ Startup ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้จัดการทรัสต์ หรือบริษัทในเครือกลุ่มธนาคารกรุงศรี อยุธยา จำกัด (มหาชน)
- บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (ผู้จัดการทรัสต์) อาจมีการลงทุนในกิจการเป้าหมาย หรือกิจการ Startup อยู่ก่อนวันปิดรับการลงทุน (Warehoused Investments) ซึ่งการลงทุนนั้นอาจมีลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกลยุทธ์การลงทุนของ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I (“PE ทรัสต์”) และผู้จัดการทรัสต์อาจโอนการลงทุนดังกล่าวนั้นมายัง PE ทรัสต์ก่อนหรือภายหลังวันปิดรับการลงทุน (Closing) และถือว่า Warehoused Investments ที่โอนมานี้ถือเป็นเงินลงทุนที่ได้รับชำระแล้วในส่วนของผู้จัดการทรัสต์ มูลค่าของ Warehoused Investments ที่โอนมาจะเท่ากับราคายุติธรรมของ Warehoused Investment บวกด้วยยอดเงินส่วนเพิ่มที่กำหนดโดยผู้จัดการทรัสต์ ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเข้าซื้อ ถือครอง และการโอนส่วน Warehoused Investment นี้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของอุตสาหกรรมในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ
- ผู้จัดการทรัสต์อาจจัดให้มีการลงทุนร่วมในกิจการเป้าหมายเดียวกับ PE ทรัสต์ แก่ผู้ลงทุนรายอื่นใดหรือบุคคลที่สาม (Co-investment) โดยการลงทุนร่วมนี้อาจกระทำการเข้าลงทุนหรือถอนการลงทุนในเวลาเดียวกัน รูปแบบหรือวิธีเดียวกันกับ PE ทรัสต์ ผู้ลงทุนร่วม (Co-investor) จะถูกจัดสรรยอดลงทุน ค่าใช้จ่าย ภาระผูกพันต่างๆ ตามสัดส่วนที่เข้าลงทุน
- เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อน อันได้แก่ 1) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเข้าลงทุน หรือ 2) เมื่อเงินที่ระดมทุนในสัดส่วนร้อยละ 80 ได้ถูกนำไปลงทุน หรือถูกเรียกชำระเงินลงทุน หรือถูกสำรองไว้สำหรับลงทุน ซึ่งรวมถึงการลงทุนสืบเนื่องหรือสำหรับชำระค่าใช้จ่ายกองทรัสต์ หรือ 3) เมื่อสัดส่วน ร้อยละ 60 ของเงินลงทุนทั้งหมดได้ถูกนำไปลงทุน หรือ 4) เมื่อกองทรัสต์ได้สิ้นสุดลง ผู้จัดการ ทรัสต์อาจรับค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการหรือให้คำปรึกษาในรูปแบบการลงทุนอื่นใดหรือบัญชีใด นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมจัดการจากการเป็นผู้จัดการทรัสต์ของ PE ทรัสต์ ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์การลงทุนที่ทับซ้อนอย่างมีนัยยะสำคัญ
- PE ทรัสต์ได้มีการมอบหมายให้บริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ประเมินมูลค่ากิจการเป้าหมายหรือทรัพย์สินที่ PE ทรัสต์ลงทุน
- ผู้ให้บริการ นายหน้า นายหน้าค้าหลักทรัพย์ ตัวแทนหรือผู้ได้รับการแต่งตั้งในการให้บริการใดๆ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ให้บริการเหล่านั้น (แต่ละราย เรียกว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย”) อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนหรือกิจกรรมต่างๆของ PE ทรัสต์ หรือของกองทุน
การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งผู้ลงทุนของกองทุนรับทราบและ ตกลงยินยอมในการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าว และกองทุนไม่สามารถรับรองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I จะคล้ายหรือเหมือนกับผลตอบแทนของการลงทุนอื่นใดที่ผู้จัดการทรัสต์เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด หรือทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทรัสต์ หรือให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษา หรือให้บริการอื่นใด
- บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (KFIN) และ ธนาคารกรุงศรี อยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เป็น นิติบุคคลแยกจากกัน KFIN มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการตัดสินใจทางธุรกิจ ในกรณีที่ KFIN มีการลงทุนในบริษัทเป้าหมายที่ไปร่วมลงทุน เป็นลูกหนี้ของ BAY หรือมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงหรือทางอ้อม KFIN ในฐานะผู้จัดการทรัสต์ จะพิจารณาตัดสินใจลงทุนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ และจะพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ การลงทุนของ PE ทรัสต์ มีราคาที่เหมาะสมสอดคล้องกับราคาตลาด รวมถึงการทำธุรกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อ PE ทรัสต์ ในสถานการณ์ขณะนั้น
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจัดการ อาจมีการลงทุนในกองทุน KFFVPE-UI โดยบริษัทจัดการจะมีการควบคุมดูแลการลงทุนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของพนักงาน (staff dealing rule) นอกจากนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของผู้จัดการทรัสต์ อาจมีการลงทุนในกอง KFFVPE-UI โดยผู้จัดการการทรัสต์ จะคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าหรือผู้ลงทุนเป็นสำคัญ (putting investors first)
ในกรณีที่จะมีการทำธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ผู้จัดการทรัสต์และ/หรือบริษัทจัดการจะคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ลงทุน หรือจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าในสถานการณ์ขณะนั้น และเป็นการทำธุรกรรมในลักษณะที่เป็นธรรมเนียมทางการค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับบุคคลทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm’s length transactions) โดยการทำธุรกรรมดังกล่าวจะปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของอุตสาหกรรมหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ
ทั้งนี้ บริษัทจัดการมีการกำหนดนโยบาย ระบบงานและมาตรการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และมีการควบคุมดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรของบริษัทจัดการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย/ระบบงาน/มาตรการ ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
18. ด้วยข้อจำกัด เงื่อนไข หรือสาเหตุอื่นใดทางภาษี ทางกฎหมายหรือกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้ผู้จัดการทรัสต์หรือกิจการที่เกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งการลงทุนคู่ขนาน (Parallel Vehicle) ด้วยรูปแบบใดๆ ให้แก่ผู้ลงทุนรายใด หรือมีการจัดตั้งวิธีการ โครงสร้าง ลักษณะการเข้าลงทุนด้วยทางเลือกอื่น (Alternative Vehicle) นอกเหนือจาก PE ทรัสต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเข้าลงทุนในกิจการเป้าหมายเดียวกับ PE ทรัสต์ การลงทุนผ่านวิธีการลงทุนแบบคู่ขนาน (Parallel Vehicle) หรือการลงทุนผ่านวิธีการลงทุนแบบทางเลือกอื่นใด (Alternative Vehicle) นี้ จะถูกควบคุม บริหารจัดการโดยผู้จัดการทรัสต์หรือกิจการที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามเอกสารการจัดตั้งที่มีใจความหลักสอดคล้องกับทรัสต์และสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ผู้จัดการทรัสต์จะจัดสรรผลตอบแทน รายได้ รวมถึงค่าใช้จ่าย ภาระผูกพันต่างๆที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของ PE ทรัสต์และการลงทุนคู่ขนาน (Parallel Vehicle) และการเข้าลงทุนด้วยทางเลือกอื่น (Alternative Vehicle) ตามสัดส่วนการเข้าลงทุน และเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการทรัสต์ ทั้งนี้ กองทุนไม่สามารถรับรองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของ ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I จะคล้ายหรือเหมือนกับผลตอบแทนของการลงทุนแบบคู่ขนานหรือทางเลือกอื่น หรือจะมีการจัดสรรการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียม
19. สัญญาก่อตั้งทรัสต์อาจมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อกองทุนและผู้ถือหน่วยได้
20. บลจ. กรุงศรีในฐานะผู้จัดการกองทุน KFFVPE-UI ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ PE ทรัสต์ โดยการพิจารณาเข้าลงทุน หรือถอนการลงทุน การบริหารจัดการในทรัพย์สินใดๆ รวมทั้งการเลิก PE ทรัสต์ จะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการทรัสต์ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการลงทุน Private Equity ทั้งนี้ ผู้ลงทุนรับทราบว่า PE ทรัสต์ ไม่รับรองว่าการใช้วิจารณญาณของผู้จัดการทรัสต์ จะส่งผลให้การลงทุนของ PE ทรัสต์ สามารถสร้างผลกำไรได้
คำเตือน
- กองทุนอาจลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) และ/หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated) และ/หรือหลักทรัพย์ที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Unlisted Securities) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
- กองทุนอาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงฯ ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- กองทุนอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน และอาจลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง จึงมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง เนื่องจากใช้เงินลงทุนในจำนวนที่น้อยกว่าจึงมีกำไร/ขาดทุนสูงกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง
- เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูล
- ผู้ลงทุนควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้ขาย หรือศึกษารายละเอียดจากเอกสารประกอบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึง ผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน ผู้ลงทุนควร ขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่
บลจ.กรุงศรี จำกัด โทร. 02-657-5757 หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา