ทิศทางการลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จากงานสัมมนา Thriving Technology Sector despite a Rise of COVID- 19

11 กันยายน 2563
 

บลจ. กรุงศรี ชี้หุ้นเทคโนโลยังคงเป็น Mega Trend ที่มูลค่าจะขึ้นต่อได้อีกยาวท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และ Trend การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค เชื่อตลาดพักฐานชั่วคราว เป็นจังหวะเหมาะเข้าลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว  

 
จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลงถึงกว่า 10% และนักลงทุนมีความไม่แน่ใจในเรื่องระดับราคาและทิศทางการเติบโตในอนาคต ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด ได้จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Thriving Technology Sector Despite a Rise of COVID- 19” โดยมีคุณเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนทางเลือก บลจ.กรุงศรี พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก ได้แก่ คุณ Nick Beecroft, Portfolio Specialist จากกองทุน T.Rowe Price  และคุณ Ben Bei, Product Strategist จากกองทุน BlackRock มาร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มในการลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมอธิบายถึงแนวคิดและกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนที่แตกต่างกันของทั้งสองกองทุน ตลอดจนวิธีการคัดเลือกหุ้น การบริหารและจัดการความเสี่ยงของกองทุน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกลงทุนที่เหมาะสมของตน
 
คุณเกียรติศักดิ์กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสามารถทำผลงานได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าดูจากข้อมูลย้อนหลังของดัชนี S&P 500 ผลตอบแทนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและ e-Commerce นั้นมีน้ำหนักถึง 78% ของผลตอบแทนในตลาด S&P 500 ทั้งหมด และเมื่อเทียบอัตราการเติบโต หุ้นเทคโนโลยีมีอัตราเติบโตมากถึง 170% ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ มีการเติบโตอยู่ที่ 110% เท่านั้น ทั้งนี้ การเติบโตของราคาหุ้นเป็นผลมาจากการเติบโตของผลกำไรบนปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤตฟองสบู่ดอทคอมในปลายยุค 90 ที่เติบโตจากการเก็งกำไรของตลาด นอกจากนี้ วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด -19 ก็เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้บริโภคและธุรกิจทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและวิธีการทำงาน ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีสามารถสร้างผลกำไรที่เติบโตได้มากถึง 7% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นที่ล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยแนวโน้มนี้คาดว่าจะยังดำเนินต่อไปท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบของโควิด-19
 
ที่มา: BofA Research Investment Committee, Bloomberg July 18
 
คุณ Nick Beecroft ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก T.Rowe Price บริษัทที่บริหารกองทุนหลักของ    KF-GTECH กล่าวว่า แม้ในระยะนี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะมีความผันผวนค่อนข้างมากจากแรงเทขายทำกำไร และกฏระเบียบและมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ที่กระทบต่อหุ้นเทคโนโลยี ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม แต่นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับแนวโน้มในระยะยาวมากกว่า และโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมการผลิต (Industrialization) เข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้จะกินเวลาอีกยาวนานหลายปีโดยมีบริษัทด้านเทคโนโลยีเป็นผู้นำ Trend การเปลี่ยนแปลง หุ้นเทคโนโลยีจึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต 
 
ที่มา: T. Rowe Price ณ ส.ค. 2563

ด้านคุณ Ben Bei หนึ่งในทีมผู้บริหารจาก BlackRock บริษัทที่บริหารกองทุนหลักของ KFHTECH-A กล่าวว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กระทบกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของหุ้นกลุ่มนี้มากนัก เนื่องจาก Trend การเติบโตของเทคโนโลยีโลกจะยังคงดำเนินต่อไป และจากการที่ประเทศจีนได้มีการทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จนแซงหน้าสหรัฐไปแล้ว ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนมีโอกาสเติบโตได้มากยิ่งขึ้นในตลาดโลก และการที่เทคโนโลยีจะยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว 
 
คุณเกียรติศักดิ์ กล่าวเสริมว่า การที่หุ้นเทคโนโลยีมีการปรับฐานลงมาจากก่อนหน้านี้ที่มีการซื้อขายอยู่ที่ P/E ระดับ 30 เท่ามาเหลือที่ประมาณ 25 เท่า หรือลดลงมากว่า 10% เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีการปรับฐานเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือในปี 2018, 2019 และครั้งนี้ 2020 จึงถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนแม้ราคาจะค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติฟองสบู่ในอดีตที่เคยซื้อขายกันด้วย P/E สูงถึง 80 - 90 เท่า จึงถือว่าเป็นราคาที่ไม่สูงเกินไปนัก ประกอบกับหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงรองรับ จึงสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
 
ที่มา: Bloomberg ณ 27 ส.ค. 2563

กองทุนของ T.Rowe Price และ BlackRock เป็นกองทุนระดับโลกที่มีมุมมองและเชื่อมั่นในการเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน และมีธีมการลงทุนหลักในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Software, Internet และ Semiconductor เหมือนกัน  แต่ก็มีกลยุทธ์ แนวคิด และวิธีการจัดพอร์ตที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน 
 
“T. Rowe Price Funds SICAV – Global Technology Equity Fund” (กองทุนหลักของกองทุน KF-GTECH)
กองทุนของ T.Rowe Price เน้นการลงทุนในหุ้นที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก ปัจจุบันพอร์ตของกองทุนมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 40 - 50 ตัว ที่ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาเป็นอย่างดี โดยปัจจุบัน กองทุนให้น้ำหนักการลงทุน 40% ในบริษัท Software ต่างๆ ที่ให้บริการผ่านระบบ Cloud โดยมองว่า Trend นี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างมากในอนาคต รองลงมาเป็นหุ้นกลุ่มที่ทำธุรกิจโดยใช้ Internet Platform เป็นหลัก เช่น ธุรกิจ e-Commerce อย่าง Alibaba, Amazon หรือ Shopify ซึ่งมีอัตราการใช้งานสูงมากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทุนลงทุนในกลุ่มนี้ 30% ของพอร์ต  และอีก 20% จะลงทุนในหุ้นกลุ่ม Semiconductor ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับความต้องการการใช้งานอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และจากการคัดเลือกหุ้นรายตัวอย่างเข้มข้น ทำให้สินทรัพย์ 10 อันดับแรกที่ลงทุนนั้นค่อนข้างจะแตกต่างจาก Benchmark เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กองทุนมีกลยุทธ์การบริหารพอร์ตแบบเชิงรุก จึงมีการปรับพอร์ตทุก 6 เดือน และคอยมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาอัตราการเติบโตของพอร์ต
 


ที่มา: T. Rowe Price ณ ส.ค. 2563

“BGF World Technology Fund” (กองทุนหลักของกองทุน KFHTECH-A)
กองทุนของ BlackRock ก็มองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีแนวโน้มเติบโตจากการพัฒนาระบบ Cloud Computing, Internet of Things, 5G, AI และรถยนต์ไฟฟ้า กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Internet ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบดิจิทัล Semiconductor และ Software ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ นอกจากนี้ กองทุนยังให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เช่น เกมออนไลน์ หรือวีดิโอ สตรีมมิ่ง กลุ่มธุรกิจที่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบจาก offline มาเป็น online จากการที่มีมาตรการล็อคดาวน์และเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ธุรกิจด้านการศึกษาที่มีการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ ธุรกิจบริการด้านการเงิน เช่น e-Payment หรือธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพ เช่น Telemedicine หรือ Tele doctor เป็นต้น กลยุทธ์การบริหารกองทุน คือ การกระจายความเสี่ยง กองทุนจึงมีสินทรัพย์มากกว่า 100 ตัว และไม่เน้นหนักในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งโดยเฉพาะ สินทรัพย์ 10 อันดับแรกที่กองทุนลงทุนจึงมีสัดส่วนเพียง 22% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ที่เหลือจะกระจายไปยังหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กต่างๆ ทั่วโลกที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอีกสิบปีข้างหน้า 
 
ที่มา: BlackRock ณ ส.ค. 2563
 
ที่มา: สรุปสาระสำคัญของกองทุน และ Morningstar ณ 14 ส.ค. 2563

ในเรื่องนโยบายการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน กองทุน KF-GTECH จะป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งในปัจจุบันป้องกันความเสี่ยงอยู่ที่ 50% ส่วน KFHTECH-A มีนโยบายปัองกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน นักลงทุนสามารถพิจาณาลงทุนทั้งสองกองทุน หรือเลือกกองทุนใดกองทุนหนึ่งที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตนเอง  

คำเตือน
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • KF-GTECH ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ T. Rowe Price Funds SICAV – Global Technology Equity Fund (Class Q) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทั่วโลก
  • KFHTECH-A ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ BGF World Technology Fund (Class D2 USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV มีนโยบายการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในหมวดเทคโนโลยี
  • ทั้ง 2 กองทุนอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือการเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน
  • ทั้ง 2 กองทุนลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • KF-GTECH ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/ หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • KFHTECH-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ซึ่งอาจมีต้นทุนสาหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
  • ทั้ง KF-GTECH และ KFHTECH-A อาจมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
  • KF-GTECH และ KFHTECH-A มีความเสี่ยงระดับ 7: เสี่ยงสูง
 
ดูข้อมูลกองทุน KF-GTECH
ดูข้อมูลกองทุน KFHTECH-A
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
โทร 0 2657 5757  หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) / ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
 
 
 
 

เอกสารประกอบเปิดด้วยโปรแกรม Acrobat Reader หากท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว คลิกเพื่อ ดาวน์โหลด โปรแกรม (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ย้อนกลับ

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน