คุณวิพุธ เอื้ออานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า “บริษัทยังมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะกลางถึงยาว แม้ว่าระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆที่เข้ามา กระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจขนส่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าทั่วโลกต่างๆ ปรับตัวลดลง โดยตัวเลขการส่งออกของไทย ในเดือนพฤษภาคม ติดลบอยู่ที่ 27.19% (ไม่รวมการส่งออกน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ) ด้านการอุปโภคบริโภคภายในประเทศก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาก การอุปโภคบริโภคทุกภาคส่วนในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 15% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายสินค้าคงทน ซึ่งปรับตัวลดลงประมาณ 40% และการใช้จ่ายในภาคบริการ ซึ่งปรับตัวลดลงประมาณ 30% เป็นต้น”
“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ปรับตัวลดลงมาทดสอบระดับต่ำสุดที่ประมาณ 1,000 จุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 จากช่วงต้นปีที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 1,580 จุด ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวลดลงประมาณ 35% จากผลกระทบของโควิด-19 หลังจากนั้น ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวสูงขึ้นทดสอบระดับสูงสุดที่ประมาณ 1,450 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณ 8-9% โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดฯ มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ในหลายๆ ประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง และรัฐบาลในหลายๆ ประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการ lock down รวมถึงธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และประกาศการดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
“สำหรับปัจจัยหลักที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 รวมถึงผลกระทบต่อการว่างงาน ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 เศรษฐกิจโลกจะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม โดยคาดว่าจะหดตัวที่ -7.6% จากเดิมคาดไว้ที่ -6% นอกจากนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะช้าลงด้วย โดยคาดว่าจะฟื้นตัวที่ 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.2%”
“หากพิจารณาตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียจะพบว่า P/E ของตลาดหุ้นไทยในปี 2564 อยู่ที่ 16.3 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียซึ่งอยู่ที่ 13.9 เท่า และ 13.7 เท่าตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยยังได้รับความน่าสนใจลงทุนน้อยกว่าตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน โดยนักลงทุนต่างประเทศยังคงเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา”
“อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยระยะกลางถึงยาวยังคงมีความน่าสนใจ แม้ในระยะสั้นจะมีความผันผวนอยู่บ้าง และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ มีแนวโน้มเป็นปัจจัยสนับสนุน”
คุณศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมีความผันผวนจากผลกระทบของโควิด – 19 เช่นกัน โดยสามารถแบ่งสถานการณ์การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ออกได้ 3 ระยะ ในช่วงแรกตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถือเป็นช่วงที่ตลาดตราสารหนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และจีนได้ออกมาตรการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งได้คาดการณ์กันว่ามาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงและมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย จึงมีเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่งผลให้เงินลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีเงินลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 112,296 ล้านบาท ซึ่งยอดเงินลงทุนดังกล่าวใกล้เคียงกับเงินลงทุนในตราสารหนี้ตลอดปี2562 ที่ 144,543 ล้านบาท และตลาดตราสารหนี้สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีมากในช่วง 2 เดือนแรกของปี”
“ต่อมาในระยะที่สอง สถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก นักลงทุนเกิดความกังวลและต้องการถือครองเงินสดเพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากตัวเลขเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยพบว่าในเดือนมีนาคม มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นกว่า 833,421 ล้านบาท และมีการขายตราสารหนี้และสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ราคาและผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง เนื่องจากมีแต่ความต้องการขายไม่มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาด โดยมีการขายตราสารหนี้ผ่านการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้และการลดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมีนาคมรวม 491,987 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายของนักลงทุนไทยกว่า 395,956 ล้านบาท การขายของนักลงทุนต่างชาติกว่า 96,031 ล้านบาท จึงเกิดเป็นปัญหาด้านสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้”
“ต่อมาได้มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องดังกล่าว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนประมาณ 152,431 ล้านบาท รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) ที่เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อหน่วยลงทุนหรือตราสารหนี้ของกองทุนรวมและสามารถนำไปกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งผลให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหุ้นกู้เอกชนเริ่มมีสภาพคล่องกลับมาบ้าง แต่ส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลยังคงห่างกันมากขึ้น จึงมองว่าเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการกลับเข้ามาลงทุน”
“IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 2 ปี โดยประเทศที่มีขนาดใหญ่ในยุโรปจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ ส่วนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่น่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงกลางปีหน้า ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลต่อการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนนี้จะยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยาต่างๆและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาสหลังของปีจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น”
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะใช้เวลา 1- 2 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยไทยในปัจจุบันถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 0.5% และแทบจะไม่มีโอกาสปรับขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ แม้ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ถือเป็นจังหวะของการลงทุนสำหรับผู้ที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาวและไม่ต้องการสภาพคล่อง สำหรับการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวและหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี โดยมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ 1-3%”
คุณจาตุรันต์ สอนไว ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนทางเลือก บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบของต่อ GDP ทั่วโลกเช่นกัน โดย IMF ประเมินว่า GDP น่าจะติดลบที่ 4.9% และ GDP ของยุโรปได้รับผลกระทบมากสุด รองลงมาคืออเมริกา ส่วนจีนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ การแพร่ระบาดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกได้ร่วมมือกันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดย FED มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งลงมาอยู่ที่ 0.25% เท่ากับช่วงวิกฤตซับไพร์ม”
“ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเห็นภาพของตลาดหุ้นให้ความสำคัญกับการทำ QE มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน และตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 น้ำมันเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงมากสุดที่ 35% ตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาติดลบประมาณ 11-12 % (ยกเว้นตลาดลาตินอเมริกา เนื่องจากบราซิลได้รับผลกระทบจากการที่มีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เป็นจำนวนมาก) ในส่วนของทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงสุดที่ 15% ทั้งนี้ หากพิจารณาจากวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมาจะพบว่า โดยเฉลี่ยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือนถึงจะเจอจุดต่ำสุด ดังนั้น จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด -19 กันมาแล้ว”
"ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญคือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐอเมริกา วิกฤตหนี้ยุโรป การแพร่ระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 การพัฒนาวัคซีน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และผลของมาตรการ QE”
“การผลิตวัคซีนที่คาดว่าจะใช้เวลา 12-18 เดือนกว่าจะถึงขั้นตอนในการกระจายสู่ประชาชน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐคาดว่าจะยังต่ำไปอีก 2 ปี ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมองว่าในช่วงนี้มีความเป็นไปได้น้อย เพราะจีนถือไพ่เหนือกว่า โดยจีนจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีผลต่อฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะจัดการปัญหาโควิด-19ได้อย่างน่าผิดหวัง”
“สำหรับการลงทุนในช่วงนี้แนะนำให้ทยอยลงทุนและเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ค่อนข้างน้อย เช่น กองทุนในกลุ่มเทคโนโลยีอย่างกองทุน KFHTECH-A และการลงทุนในกลุ่มหุ้นเฮลท์แคร์อย่างกองทุน KFHHCARE รวมถึงการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและประเทศจีนที่มีการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจว่าจะไม่กลับมาระบาดระลอก 2 - 3 โดยแนะนำการลงทุนในกองทุน KFACHINA-A ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นจีน A Share หรือกระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียผ่านกองทุน KFHASIA-A ที่เน้นการลงทุนในจีน ไต้หวัน เกาหลี เป็นประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และตลาดทั้งสองมีระดับ P/E ที่น่าสนใจ รวมทั้งแนะนำให้แบ่งลงทุนทองคำ เพราะแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ยังคงมีข่าวร้ายเป็นระยะ และเงินล้นตลาดไม่มีที่ไปจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองให้ปรับตัวสูงขึ้น”
เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล
แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯ
ขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
สอบถามเพิ่มเติมพร้อมขอข้อมูลและหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา / ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน