ตามที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (“บริษัทจัดการ”) ได้บริหารจัดการลงทุนกองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFHASIA) (“กองทุนฯ”) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก ชื่อ Vontobel Fund - mtx Sustainable Asian Leaders (ex Japan) (Class I) ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ จนถึงปัจจุบัน ความทราบอยู่แล้วนั้น
สืบเนื่องจาก บริษัทจัดการได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนหลักดังกล่าวมาในระยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่า กองทุนหลักมีผลตอบแทนไม่เป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับกองทุนอื่น และอาศัยข้อความตามสาระสำคัญที่ระบุไว้ในโครงการจัดการของกองทุน ข้อ 3.11 เรื่อง “รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและลักษณะพิเศษ” ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่บริษัทจัดการเห็นว่า การลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ และ/หรือการลงทุนในกองทุน Vontobel Fund - mtx Sustainable Asian Leaders (ex Japan) ไม่เหมาะสมอีกต่อไป เช่น มีผลตอบแทนของกองทุนไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิที่จะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศอื่นใด โดยอาจเป็นกองทุนที่บริหารและจัดการลงทุนภายใต้บริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศรายเดิมหรือไม่ก็ได้
เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน บริษัทจัดการจึงได้ดำเนินการขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการกองทุนฯ และได้รับการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกองทุนหลักเป็นกองทุนรวมต่างประเทศอื่นที่มีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกันคือ กองทุน
Baillie Gifford Pacific Fund (Class B Acc) ซึ่งมีการเสนอขายตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2532 บริหารโดยบริษัทจัดการลงทุน Baillie Gifford & Co Limited และจดทะเบียนบริษัทในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) มีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มูลค่า 3,833.13 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกองทุนหลักดังกล่าว บริษัทจัดการจึงได้เปลี่ยนแปลงผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว เพื่อให้มีความคล่องตัวและเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการกองทุนได้ดีกว่า โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการกองทุนฯ ตามตารางที่แนบมานี้
ทั้งนี้ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
โดยบริษัทจัดการสามารถออกสมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน (“Passbook”) เล่มใหม่ที่ระบุชื่อผู้ดูแลผลประโยชน์เป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนที่มี Passbook เล่มเดิมที่ระบุชื่อผู้ดูแลผลประโยชน์เป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ท่านยังสามารถใช้ Passbook ดังกล่าว ในการทำรายการซื้อขายและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนต่อไปได้จนกว่าจะหมดเล่ม
หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ขอความกรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบัญชีของท่านหรือเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทฯ ที่โทรศัพท์หมายเลข 02-657-5757 กด 2 หรือทาง E-mail ที่ krungsriasset.clientservice@krungsri.com
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการกองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์
- การเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกองทุนหลัก
เดิม |
ใหม่ |
1. ชื่อกองทุนหลัก |
Vontobel Fund - mtx Sustainable Asian Leaders (ex Japan) ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) |
Baillie Gifford Pacific Fund (Class B Acc) ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายหน่วยลงทุนในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) |
2. ชื่อบริษัทจัดการ |
Vontobel Asset Management S.A. |
Baillie Gifford & Co Limited |
3. วัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน |
กองทุนมีวัตถุประสงค์ให้เงินลงทุนเติบโตในระยะยาวและมุ่งส่งเสริมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคม โดยมีมาตรการในการดูแลและวิธีการประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำรงไว้ซึ่งความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กองทุนจัดอยู่ในประเภทของกองทุนตามมาตรา 8 ของเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Finance Disclosures Regulation หรือ SFDR)
กองทุนจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) โดยมี “mtx” เป็นทีมผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้นยั่งยืน (sustainable equities) ของผู้จัดการการลงทุน
กองทุนยึดหลักการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนโดยนำทรัพย์สินส่วนใหญ่ไปลงทุนในหุ้น ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ที่เทียบเท่าตราสารทุน และ Participation Certificates เป็นต้น ที่ออกโดยบริษัทที่ตั้งอยู่หรือประกอบกิจการโดยส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
กองทุนอาจลงทุนในหุ้น China A-Shares ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เสิ่นจิ้น และฮ่องกง โดยผ่านโครงการ Shanghai-Hong Kong Stock Connect และ Shenzhen-Hong Kong Stock Connect ไม่เกินร้อยละ 35 ของทรัพย์สินของกองทุน
กองทุนอาจลงทุนในทรัพย์สินนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่เกินร้อยละ 33 ของทรัพย์สินของกองทุน และกองทุนอาจมีการถือครองเงินสดไว้ด้วย |
กองทุนมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่าย ให้สูงกว่าดัชนี MSCI AC Asia ex Japan ในสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ในแต่ละรอบระยะเวลาการลงทุน 5 ปี
กองทุนจะลงทุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) และออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จัดตั้ง มีถิ่นที่อยู่ หรือดำเนินธุรกิจโดยส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) และออสตราเลเซีย ทั้งนี้ กองทุนจะบริหารการลงทุนแบบเชิงรุก โดยลงทุนในบริษัททุกขนาดและทุกหมวดอุตสาหกรรม ในกรณีของการลงทุนทางอ้อมจะลงทุนผ่านโครงการจัดการลงทุนในลักษณะกองทุนรวม (Collective Investment Schemes) ซึ่งรวมถึงกองทุนที่บริหารจัดการโดยบริษัทจัดการ
ในกรณีที่กองทุนยังมิได้ลงทุนเต็มจำนวนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในหุ้นของบริษัทดังกล่าว กองทุนอาจลงทุนในหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ชนิดอื่น ๆ ของบริษัทที่อยู่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) และออสตราเลเซีย หรือตราสารตลาดเงิน เงินฝาก และถือครองเงินสด นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนหรือใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives)
อย่างไรก็ดี กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนตามหลักเกณฑ์การลงทุนแบบยั่งยืน โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Corporate Governance : ESG) ประกอบการพิจารณาในกระบวนการลงทุนของกองทุนด้วย |
4. ประเทศที่บริษัทจัดการทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนหลัก |
ประเทศลักเซมเบิร์ก |
ประเทศสหราชอาณาจักร |
5. สกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนหลัก |
สกุลเงินเหรียญสหรัฐ |
สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง |
6. ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนหลัก |
MSCI AC Asia (ex Japan) net TR USD |
MSCI AC Asia ex Japan Index |
ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะใช้ดัชนี MSCI AC Asia Ex Japan Gross Return GBP Index ในสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง ปรับด้วยต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเทียบกับค่าสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับ Benchmark ของกองทุนหลักใหม่ เช่นเดียวกัน
- การเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
เดิม |
ใหม่ |
ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ดูแลผลประโยชน์ และสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนรวม |
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ที่อยู่ : เลขที่ 9 ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2128-2316 |
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ที่อยู่ : เลขที่ 100 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทรศัพท์ 0-2724-3377 |
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกองทุนหลักดังกล่าว ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน
ได้เร็วขึ้น จากเดิม 5 วันทำการหลังจากวันทำรายการขายคืนโดยไม่นับรวมวันหยุดต่างประเทศ (T + 5) เป็น 4 วันทำการหลังจากวันทำรายการขายคืนโดยไม่นับรวมวันหยุดต่างประเทศ (T + 4) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เช่นเดียวกัน