การแก้ไขโครงการกองทุนรวมภายใต้การจัดการจำนวน 101 กองทุน

7 พฤศจิกายน 2562
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (“บริษัทจัดการ”) ใคร่ขอแจ้งการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการและ/หรือข้อผูกพัน   (“การแก้ไขโครงการ”) ของกองทุนรวมภายใต้การจัดการ (รายชื่อกองทุนตามเอกสารแนบ) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (“สำนักงานฯ”) แล้ว โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1. คำจำกัดความ / คำนิยาม เช่น ตัดบัตรเงินฝากและใบรับฝากเงินออกจากนิยามของ “เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก” เพื่อสะท้อนตราสารที่มีลักษณะเป็นเงินฝากเท่านั้น, เพิ่มคำนิยามของ “กองทุน private equity / หน่วย private equity” “มติพิเศษ” “มติเสียงข้างมาก” เป็นต้น
2. การคำนวณสัดส่วนการลงทุนของกองทุนตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุน (Label Fund) โดยเพิ่มเติมข้อความให้บริษัทจัดการอาจไม่นับช่วงระยะเวลา 30 วันก่อนเลิกกองทุน หรือช่วงระยะเวลาที่ต้องใช้ในการจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนเนื่องจากได้รับคำสั่งขายคืน หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน หรือเพื่อรอการลงทุน ซึ่งต้องไม่เกินกว่า 10 วันทำการ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการกองทุนมากขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
3. การนับอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (Concentration Limit) สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ / ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน / ตราสาร Basel III / ตราสารศุกูก (ถ้ามี) ของผู้ออกรายใดรายหนึ่ง
เดิม : กองทุนสามารถลงทุนในตราสารดังกล่าว ได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของมูลค่าหนี้สินทางการเงิน (Financial Liability) ของผู้ออกตราสารรายนั้น ตามที่เปิดเผยไว้ในงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีล่าสุด โดยไม่นับรวมมูลค่าหนี้สินดังกล่าวของเจ้าหนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ออก เช่น เงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน เป็นต้น
แก้ไขเป็น : ในกรณีผู้ออกตราสารมีมูลค่า Financial Liability เพียงเล็กน้อยและจะมีการออกตราสารใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่ปรากฎในงบการเงินล่าสุด บริษัทจัดการอาจนำ Financial Liability ที่ออกใหม่ (เช่น ตราสารหนี้ที่ออกใหม่) ในระหว่างก่อนครบรอบระยะเวลาบัญชีล่าสุดและยังไม่ได้ปรากฏอยู่ในงบการเงิน มารวมกับ Financial Liability ตามงบการเงินล่าสุดด้วยก็ได้ โดยข้อมูล Financial Liability ที่ออกใหม่นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่เป็นการทั่วไป
4. การลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) (“SN”)
เดิม : การลงทุนใน SN ซึ่งเสนอขายในประเทศ SN ดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (1) ให้ผู้ออก SN คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของ SN ไปยัง ThaiBMA ทุกวันที่ 15 และวันสุดท้ายของแต่ละเดือน (2) ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาของ SN อย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้ออก SN คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของ SN ไปยัง ThaiBMA ทันที 
แก้ไขเป็น : ไม่บังคับเกณฑ์การแจ้งมูลค่ายุติธรรมและเกณฑ์ product limit กับ SN ตามที่กำหนดข้างต้น ในกรณีที่ SN มีการเสนอขายในวงกว้างและขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ตามเกณฑ์ที่ออกและเสนอขายตราสารหนี้ เช่น callable bond / puttable bond ซึ่ง ThaiBMA มีการประกาศมูลค่ายุติธรรมทุกวันอยู่แล้ว
5. การรายงานกรณีทรัพย์สินที่ลงทุนขาดคุณสมบัติหรือการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดโดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม (Passive Breach) หรืออายุทรัพย์สินของกองทุนรวมตลาดเงินไม่เป็นไปตามที่กำหนดโดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม
เดิม : บริษัทจัดการจะจัดทำรายงานและจัดส่งสำนักงานฯ รวมทั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ ภายในวันทำการถัดไปนับจากวันที่เกิดกรณีดังกล่าว รวมทั้งเมื่อมีการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว บริษัทจัดการจะจัดส่งรายงานเพื่อแจ้งข้อมูลเรื่องการแก้ไขแล้วเสร็จ ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไขแล้วเสร็จ
แก้ไขเป็น : 
(1) การรายงานต่อสำนักงานฯ : บริษัทจัดการจะรายงานต่อสำนักงานฯ เฉพาะกรณีที่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ครบระยะเวลาที่กำหนดไว้
(2) ระยะเวลาจัดส่งรายงาน : บริษัทจัดการจะจัดส่งรายงานภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว หรือภายใน 3 วันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไขแล้วเสร็จ ต่อผู้ดูแลผลประโยชน์
ทั้งนี้ การแก้ไขข้างต้น ไม่รวมถึงกองทุนรวมตลาดเงิน หรือหน่วย CIS ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานต่อสำนักงานฯ เช่นเดิม
6. การจัดทำรายงานเกี่ยวกับการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนตามการจัดแบ่งประเภทของกองทุน   โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาจัดส่งรายงานในเรื่องกล่าวต่อสำนักงานฯ และผู้ดูแลผลประโยชน์ จากเดิม ภายในวันทำการ เป็น ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน
7. การซื้อหน่วยลงทุนแบบประจำ โดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้  (1) ผู้ลงทุนอาจซื้อผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทจัดการ รวมถึงช่องทางอื่นใดที่จะมีขึ้นในอนาคต  (2) ผู้ลงทุนสามารถติดต่อกับผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มีบริการรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนแบบประจำ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ลงทุน
8. ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด (“เกณฑ์ 1 ใน 3”) โดยผ่อนคลายเกณฑ์ 1 ใน 3 ให้กับบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 ได้ไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันเพิ่มเติมจากสำนักงานฯ
9. การจ่ายเงินปันผล 
เดิม : บริษัทจัดการจะประกาศการจ่ายเงินปันผลในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย 1 ฉบับ
แก้ไขเป็น : บริษัทจัดการจะประกาศการจ่ายเงินปันผลในช่องทางที่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถรับทราบข้อมูลได้ เช่น เว็บไซต์ของบริษัทจัดการ รวมถึงการเพิ่มวิธีการจ่ายเงินปันผลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในอนาคต
10. ารเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย จากเดิม ให้แจ้งภายใน 3 วันทำการ โดยแก้ไขเป็น ต้องแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการก่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
11. การประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน โดยจัดเรียงข้อความและลำดับเลขที่ข้อให้สอดคล้องกับประกาศฯ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด
12. การขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน และวิธีการแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม หรือแก้ไขวิธีการจัดการ
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ หรือแก้ไขวิธีการจัดการได้ง่ายขึ้น
(2) กำหนดกรอบการให้ความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมโครงการของสำนักงานฯ ให้ชัดเจนขึ้น
(3) กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติและง่ายต่อการทำความเข้าใจ
13. การชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน กรณีที่บริษัทจัดการไม่ได้บันทึกมูลค่าตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของกองทุนรวมเป็นศูนย์ ก่อนการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันในแต่ละครั้ง บริษัทจัดการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามมติพิเศษ
14. การเลิกกองทุนรวม
เดิม : บริษัทจัดการจะดำเนินการเลิกกองทุนรวมเมื่อมีการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด (“2/3”)
แก้ไขเป็น : ในกรณีเข้าเงื่อนไข 2/3 บริษัทจัดการสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาเลิกกองทุนหรือไม่เลิกกองทุนได้ หากพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่า การเลิกกองทุนรวมจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่ และกองทุนยังคงมีทรัพย์สินคงเหลือที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และผู้ถือหน่วยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขายคืนนั้น
15. การเลิกกองทุน RMF / LTF เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ และผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างต่อเนื่อง จึงผ่อนคลายระยะเวลาการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน รวบรวมเงินจากการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน และโอนย้ายการลงทุนไปยัง RMF / LTF อื่น โดยให้จำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินภายใน 5 วันทำการ รวบรวมเงินจากการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินภายใน 10 วันทำการและโอนย้ายการลงทุนไปยัง RMF / LTF อื่น โดยไม่ชักช้า
16. การชำระบัญชีเมื่อเลิกกองทุน เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นชาวต่างชาติไม่มีภูมิลำเนาในไทย ทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถวางทรัพย์ได้ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถชำระบัญชีและจดทะเบียนเลิกกองทุนได้ จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทจัดการสามารถระบุที่อยู่ของบริษัทจัดการ เป็นภูมิลำเนาเพื่อการวางทรัพย์ กรณีผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยได้
17. การใช้ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ผลการดำเนินงานของกองทุน ได้แก่
(1) เปลี่ยนแปลงดัชนีชี้วัดฯ อันเนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนของกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม
(2) เปลี่ยนแปลงดัชนีชี้วัดฯ ตามที่บริษัทจัดการเห็นควรและเหมาะสม ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการลงทุนที่กำหนด
ทั้งนี้ ท่านสามารถดูรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้ที่ www.krungsriasset.com
18. ทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ 
เดิม : กำหนดทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ (Eligible Assets) แยกตามประเภทตราสาร เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เป็นต้น
แก้ไขเป็น : กำหนดทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ เป็น ตราสาร Transferable Securities (TS) ตามหลักสากล (UCITS) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติของตราสารตามที่กำหนด
19. หน่วย Private Equity โดยเพิ่มให้กองทุนสามารถลงทุนในหน่วย Private Equity ได้ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติของตราสารเช่นเดียวกับตราสาร Transferable Securities และกำหนดอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (Single Entity Limit) เช่นเดียวกับการลงทุนใน listed / unlisted securities รวมถึงกำหนดอัตราส่วนการลงทุนตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (Concentration Limit) ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วย Private Equity ทั้งหมดของกองทุน Private Equity นั้น
20. หน่วยลงทุนของกองทุน (“หน่วย CIS”)
เดิม : หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ (“หน่วย CIS ต่างประเทศ”) ที่กองทุนไทยไปลงทุน จะต้องมีการลงทุนในทรัพย์สินที่กองทุนไทยไม่สามารถลงทุนได้ (Non-Eligible Assets) ไม่เกินร้อยละ 20 ของ NAV ของหน่วย CIS ต่างประเทศนั้น อีกทั้ง กองทุนไทยไม่สามารถลงทุนในหน่วย CIS ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (listed fund) ได้ หากหน่วย CIS นั้น ไม่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงานฯ กำหนด
แก้ไขเป็น : กองทุนไทยสามารถลงทุนในหน่วย CIS ต่างประเทศที่มีการลงทุนใน Non-Eligible Assets รวมกันไม่เกินร้อยละ 20 ของ NAV ของกองทุนไทย และหน่วย CIS ต่างประเทศดังกล่าว ต้องมีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นในทรัพย์สินที่กองทุนไทยสามารถลงทุนได้  อีกทั้ง สามารถลงทุนใน listed fund โดยมี single entity limit เช่นเดียวกับการลงทุนใน listed securities ทั่วไป
21. ประเภทกองทุนตามการลงทุนในต่างประเทศ เฉพาะกองทุนที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศที่มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเดิม กำหนดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเป็น เฉพาะในขณะใดๆ โดยแก้ไขเป็น เฉลี่ยในรอบปีบัญชี เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและสามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะตลาดขณะนั้น
22. ประเภทกองทุนตามนโยบายการลงทุนเฉพาะกองทุนรวมผสม ที่มีกำหนดสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเดิม กำหนดสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวเป็น ณ ขณะใดๆ โดยแก้ไขเป็น เฉลี่ยในรอบปีบัญชี เพื่อมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและสามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะตลาดขณะนั้น
23. รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน โดยเพิ่มเติมการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) ซึ่งจะพิจารณาลงทุนเฉพาะที่มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิในการบังคับไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (callable) หรือตราสารหนี้ที่ ผู้ถือมีสิทธิเรียกให้ผู้ออกชำระหนี้คืนก่อนกำหนด (puttable) เพื่อรองรับการลงทุนในตราสารดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานฯ กำหนดให้สามารถลงทุนได้

การแก้ไขโครงการเพื่อให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามประกาศของทางการที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้ :
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. :
- สน. 21/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนรวมส่วนบุคคล (ฉบับที่ 12) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตาม ข้อ 9-11 และ ข้อ 14-15
- สน. 23/2562 เรื่อง รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ 9) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 16
- สน. 38/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 14) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 12-13
- สน. 39/2562 เรื่อง  รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ 11) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 12
- สน. 48/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 15) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 10
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน :
- ทน. 13/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม และหน้าที่ของบริษัทจัดการ (ฉบับที่ 6) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 8
- ทน. 20/2562 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 12) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตาม ข้อ 1-6 และข้อ 20-23
- ทน. 33/2562 เรื่อง  หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน และการจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 12
- ทน. 34/2562 เรื่อง ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ 6) ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 12
(3) หนังสือสมาคมบริษัทจัดการลงทุน :
สจก.054/2562 เรื่อง ซักซ้อมดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารหนี้ และการบันทึกบัญชีตราสารหนี้ของกองทุนรวม และ สจก.046/2562 เรื่อง ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารหนี้ กรณีผลกระทบจากภาษีดอกเบี้ยตราสารหนี้ ซึ่งได้แก่ การแก้ไขโครงการตามข้อ 17

วันที่มีผลบังคับใช้
(1) การแก้ไขโครงการตามข้อ 1. ถึงข้อ 17. กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
(2) การแก้ไขโครงการตามข้อ 18. ถึงข้อ 23. กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยบริษัทจัดการจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหรือสับเปลี่ยนออกจากกองทุน (ถ้ามี) ในระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 - 13 มกราคม 2563
 
หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ขอความกรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบัญชีของท่านหรือเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทจัดการ ที่โทรศัพท์หมายเลข 02-657-5757 กด 2 หรือทาง E-mail ที่ krungsriasset.clientservice@krungsri.com
 
จึงประกาศมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
เอกสารประกอบเปิดด้วยโปรแกรม Acrobat Reader หากท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว คลิกเพื่อ ดาวน์โหลด โปรแกรม (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ย้อนกลับ

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน