Krungsri Asset Management Global Fund Forum 2015 - Connecting a World of Investment Opportunities

7 มิถุนายน 2558

บลจ. กรุงศรี เปิดแนวรุกชวนนักลงทุนไทยแสวงโอกาสกระจายการลงทุนสู่ต่างประเทศผ่านกองทุนรวม FIF เผยโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในตลาดด้านสุขภาพที่กำลังเติบโต ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย และตลาดญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ

        แม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกในขณะนี้อาจยังดูไม่สดใสมากนัก แต่หลายประเทศก็เริ่มมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวและมีความผันผวน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด แนะนักลงทุนไทยปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและแสวงโอกาสการลงทุนไปยังกองทุนต่างประเทศ เพื่อให้มีโอกาสในการทำกำไรและรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

        โดยเมื่อเร็วๆ นี้บลจ. กรุงศรี ได้จัดงานสัมมนาใหญ่ “Krungsri Asset Management Global Fund Forum 2015 - Connecting a World of Investment Opportunities” ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้จัดการกองทุนจากบริษัทจัดการการลงทุนระดับโลก ได้แก่ J.P. Morgan Asset Management, Eastspring Investments และ Schroder Investment Management มาบอกเล่าถึงทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ตลอดจนแนวทางการคัดเลือกหุ้นของแต่ละกองทุนเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจสำหรับผู้ลงทุน โดยทั้งสามบริษัทมีกองทุนหลักที่ บลจ. กรุงศรีคัดสรรมาเป็นพิเศษสำหรับนักลงทุนชาวไทยเพื่อให้มีโอกาสกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของตนเองและสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจโลก ได้แก่ กองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านสุขภาพ JP Morgan Funds– Global Healthcare Fund ที่สามารถลงทุนผ่าน กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) กองทุน Eastspring Investments - Japan Dynamic Fund ที่เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนผ่าน กองทุนกรุงศรีเจแปนเฮดจ์ปันผล (KF-HJAPAND) และกองทุน Schroder Asian Income Fund ที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนผ่าน กองทุนกรุงศรีเอเชี่ยนอินคัมเฮดจ์ (KF-AINCOME) ที่มุ่งสรรหาหุ้น การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้คุณภาพดีจากตลาดในภูมิภาคเอเชียเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลและราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

        เอลวินา ลี ผู้จัดการกองทุน J.P. Morgan Asset Management กล่าวถึง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกำลังมีอัตราการเจริญเติบโตที่น่าสนใจมากในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนตลาดเอเชียก็กำลังทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่นกันอย่างที่ประเทศจีนที่ให้เรื่องหลักประกันด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้การคิดค้นนวัตกรรมการป้องกันและรักษาโรคใหม่ๆ ใช้เวลาและต้นทุนที่น้อยลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก เช่น เทคโนโลยี Genome Sequencing หรือการศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมของร่างกายที่ทำให้สามารถคิดค้นตัวยาสำหรับรักษาโรคเฉพาะทางได้ดีขึ้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจนี้ ไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ธุรกิจผลิตยา ธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือธุรกิจประกัน ซึ่งล้วนกำลังปรับตัวขนานใหญ่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม “ถึงแม้ว่าภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมจะดูเหมือนตลาดด้านสุขภาพได้เติบโตมาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทต่างๆ ที่ยังมีโอกาสที่ดีๆ รออยู่ และสามารถเติบโตได้อยู่อีกมากทั่วโลก ทาง J.P. Morgan ได้พยายามเข้าไปศึกษาและค้นหาสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับการลงทุน โดยจะพิจารณาบริษัทที่มีการปรับตัวให้กับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม บริษัทที่มีนวัตกรรมในการคิดตัวยาหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ และที่สำคัญราคายังไม่แพงเกินไปนัก เพื่อให้สามารถทำกำไรและสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน” เอลวิน่ากล่าว

        ไมเคิล วูลลี่ ผู้จัดการกองทุน Eastspring Investments กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียแปซิฟิคที่มีการปรับตัวสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่เคยเป็นตลาดที่สร้างความผิดหวังกับนักลงทุนอันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันภายในประเทศ ปัจจุบันกลายเป็นตลาดที่สร้างความน่าประหลาดใจในเชิงบวกต่อนักลงทุน ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆของญี่ปุ่นมีพื้นฐานโครงสร้างบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไป มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยผลักดันภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กองทุนบำเหน็จบำนาญเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพื่อแสวงหารายได้จากการลงทุน จะทำให้บริษัทต่างๆ เร่งพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น เวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในตลาดญี่ปุ่นเนื่องจากยังมีอีกหลายบริษัทที่เป็นหุ้นคุณภาพดี มีผลประกอบการดี ทำกำไรเพิ่มได้มากขึ้นแต่ราคายังคงถูกอยู่ โดยเขาประเมินว่า มีบริษัทประมาณ 42% ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ราคายังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี จึงมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน ทั้งนี้ ทาง Eastspring Investments ยังมีกระบวนการการคัดเลือกหุ้นที่แตกต่างจากที่อื่นโดยจะค้นหาหุ้นที่มีระดับราคาน่าสนใจ ซึ่งอาจถูกมองข้ามจากนักลงทุนในตลาด รวมทั้งการเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบริษัทก่อนการพิจารณาคัดเลือกหุ้นเข้ากองทุน ทำให้เข้าใจถึงศักยภาพในการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต นักลงทุนจึงสามารถเลือกลงทุนได้อย่างมั่นใจ

        ปาง คิน เหวิง ผู้จัดการกองทุน Schroder Investment Management อธิบายว่า ตลาดเอเชียถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากกว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แนวทางการลงทุนของกองทุนนี้จะเป็นการกระจายการลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่กำลังเติบโตบนหลักธรรมาภิบาลที่ดี กองทุนเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITS) และตราสารหนี้คุณภาพดีในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ตลาดในภูมิภาคเอเชียก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทที่มีเงินกู้ต่างประเทศอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์แข็งตัวมากขึ้น แต่ข้อดีคือการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนี้ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บริษัทต่างๆ ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่กองทุนเองก็จะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปด้วยเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนที่ดีสำหรับผู้ลงทุน

        ส่วนของบลจ.กรุงศรี นำโดย นางสุภาพร ลีนะบรรจง รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กล่าวที่งานสัมมนาว่า แม้ว่าปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นไทยจะยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยมี P/E อยู่ที่ 13.7 เท่า แต่ยังถือว่ามีความเสี่ยงจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัว และปรับลดตัวเลข GDP ของทางภาครัฐ ทำให้นักลงทุนต้องติดตามดูทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด จึงแนะนำให้นักลงทุนไทยกระจายความเสี่ยงไปยังกองทุนต่างประเทศ

        “ทางบลจ. กรุงศรีได้คัดสรรผลิตภัณฑ์กองทุน FIF ชั้นนำระดับโลกด้วยวิธีการคัดเลือกแบบ Qualitative ควบคู่กับ Quantitative Screening ของ Morningstar พร้อมกับการพิจารณาเรื่องความเสี่ยงและระดับความผันผวนที่เหมาะสมกับนักลงทุนชาวไทยมากที่สุด แต่ละกองทุนจะผ่านการกลั่นกรองของทีมงานคุณภาพของบลจ.กรุงศรีร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญของกองทุนชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนไทยให้มากที่สุด” นางสุภาพรอธิบาย

        นางสุภาพรกล่าวสรุปว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน สัดส่วนการลงทุนที่แนะนำในการลงทุนคือในตลาดหุ้นไทย 25% ตลาดหุ้นที่ประเทศพัฒนาแล้ว 21% ตลาดเกิดใหม่ 9% ตราสารหนี้ 27.5% ตราสารหนี้โลก 12.5% และกองทุนทองคำอีก 5% โดยในปัจจุบัน บลจ.กรุงศรี มีกองทุน FIF ให้เลือกลงทุนมากมาย ครอบคลุมสินทรัพย์จากทั่วทุกมุมโลก เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เลือกมากขึ้นเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่กว้างขึ้นในการลงทุน

คำเตือน
1. การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
2. ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
3. กองทุน KF-AINCOME, KF-HJAPAND และ KF-HEALTHD มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก กองทุนจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือการเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน
4. กองทุนที่มีนโยบายการจ่ายผลตอบแทน การจ่ายผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนหลักและดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
5. กองทุน KF-AINCOME และ KF-HJAPAND จะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในหลักทรัพย์สินในสกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ เทียบกับสกุลเงินบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
6. กองทุน KF-HEALTHD อาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทั้งนี้ กองทุนอาจเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ ทำให้ผลตอบของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
7.กองทุน KF-AINCOME อาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ในอัตราส่วนที่มากกว่าอัตราส่วนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากกว่ากองทุนเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
8. กองทุน KF-AINCOME คือกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่
• บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร. 0 2657 5757
• สาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน);
• ตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
หมายเหตุ: ธนาคารกรุงศรี จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนให้กับบลจ.กรุงศรี เท่านั้น

เอกสารประกอบเปิดด้วยโปรแกรม Acrobat Reader หากท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว คลิกเพื่อ ดาวน์โหลด โปรแกรม (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ย้อนกลับ

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน