Q&A กองทุน Thai ESGX

18 มีนาคม 2568


1. Thai ESGX คืออะไร?
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thailand ESG Extra Fund: Thai ESGX) เป็นกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF และเงินลงทุนใหม่ สำหรับการลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนด 2 เดือน (คาดว่า พ.ค. - มิ.ย. 68)
  • ทั้งนี้ Thai ESGX ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยจะต้องลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV
  • ประเภทสินทรัพย์ที่ Thai ESGX ต้องลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV ประกอบด้วย
  1. หุ้นกลุ่มความยั่งยืนใน SET หรือ mai ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV (ไม่จำเป็นต้องลงทุนเฉพาะหุ้นใน SET ESG Ratings เพียงอย่างเดียว*)
  2. ตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน
  3. โทเคนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน
  • ทั้งนี้ Thai ESGX สามารถลงทุนหุ้นไทยที่ไม่ใช่ ESG ได้ เพราะส่วนการลงทุนที่เหลืออีก 20% ของ NAV สามารถลงทุนหุ้นไทยที่ไม่ใช่ ESG ได้
*หุ้นกลุ่มยั่งยืนของ Thai ESG และ Thai ESGX ประกอบด้วยหุ้นที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้
  1. ได้รับการคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ESG ratings providers ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment: E) หรือด้านความยั่งยืน (ESG)
  2. มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบ
  3. มีบรรษัทภิบาล (governance: G) ในระดับดีเลิศ ซึ่งต้องได้รับ CGR ซึ่งจัดทำโดย IOD ตั้งแต่ 90 คะแนนเป็นต้นไป มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan) การยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผน
ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ (2) หรือ (3) นอกเหนือจากกลุ่มที่ (1) ที่ได้รับ ESG rating ได้

2. Thai ESGX ต่างจาก Thai ESG เดิมอย่างไร
Thai ESGX มีเงื่อนไขการลงทุนเพิ่มเติม คือ ต้องลงทุนหุ้นกลุ่มความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV และเปิดรับสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม สูงสุด 500,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข 30% ของเงินได้พึงประเมิน
ข้อมูล Thai ESG Thai ESGX
นโยบายลงทุน - ลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืน ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
- ลงทุนได้ทั้งหุ้นไทยยั่งยืน/ที่ได้รับการจัดอันดับ ESG Rating ตามหลัก ESG ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
- ลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืน ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
- เงื่อนไขเพิ่มเติมเฉพาะ Thai ESGX ต้องลงทุนหุ้นกลุ่มความยั่งยืน ไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท - วงเงินลดหย่อนที่ 1 เงินใหม่ เฉพาะปี 2568 ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุด 300,000 บาท
- วงเงินลดหย่อนที่ 2 สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม สูงสุด 500,000 บาท (ไม่มีเงื่อนไข 30% ของเงินได้พึงประเมิน)

3. มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไร?
สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบ่งออกเป็น 2 วงเงินใหม่ โดยไม่รวมกับกองทุนและประกันเพื่อรองรับการเกษียณการทำงานอื่น ๆ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
3.1) Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) สำหรับเงินใหม่ที่บุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุน Thai ESGX เฉพาะปี 2568 สูงสุด 300,000 บาท
  • วงเงินลดหย่อน: ให้สิทธิลดหย่อนเฉพาะในปี 2568 ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (เฉพาะปี 2568)
  • ระยะเวลาลงทุน: เปิดระยะให้ลงทุนภายใน 2 เดือน (คาดว่าเริ่มเปิดขายหน่วยได้ทุกวันทำการของเดือน พ.ค. - มิ.ย. 68) จะเป็นวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีแยกจากการลงทุนในกองทุน Thai ESG ปกติ
  • การถือครอง: ไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันชนวัน นับแต่วันที่ลงทุน) เช่น ซื้อกองทุน Thai ESGX ในวันที่ 1 มิ.ย. 68 ถือครองจนครบ 5 ปี ถึงวันที่ 31 พ.ค. 73 จะสามารถขายออกได้นับแต่วันที่ 1 มิ.ย. 73 เป็นต้นไป
3.2) Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 2) สำหรับผู้ลงทุนที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิมที่ถือทั้งหมดใน LTF ทุกกองทุนในทุก บลจ. มาเป็นหน่วยลงทุนของ Thai ESGX เพื่อรับเงินสิทธิลดหย่อนสำหรับ LTF เดิม สูงสุด 500,000 บาท (สามารถเลือกโอนไป Thai ESGX กองทุนเดียวได้)
  • วงเงินลดหย่อน: สูงสุด 500,000 บาท รวม ทยอยลดหย่อน 5 ปี ตั้งแต่ปีภาษี 2568 – 2572
    • ปีแรก (2568): สูงสุด 300,000 บาท
    • ปีที่ 2 - 5 (2569 - 2572): ให้ทยอยลดหย่อนโดยนำส่วนเกินมาหารเฉลี่ยและลดหย่อนปีละเท่าๆ กัน
      • ตัวอย่างเช่น การสับเปลี่ยน LTF ไป THAIESGX มูลค่า 380,000 จะลดหย่อนได้ดังนี้
        • ปีที่ 1 (ปี 2568) ลดหย่อนได้ 300,000 บาท
        • ปีที่ 2 - 5 (ปี 2569 - 2572) ลดหย่อนได้ปีละ 20,000 บาท 
  • หน่วยลงทุนที่มีสิทธิ: หน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วย LTF ถือครอง ณ วันที่ ครม. มีมติอนุมัติมาตรการข้างต้น (ไม่รวม class หน่วยภาษีอื่นภายใต้กองทุนเดียวกัน เช่น class SSF)
หมายเหตุ: ผู้ถือหน่วย LTF ที่ประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อน ต้องสับเปลี่ยนจาก LTF ทุกกองทุนในทุก บลจ. มา Thai ESGX ในช่วงระยะเวลาการสับเปลี่ยนที่กำหนด หากสับเปลี่ยนมาไม่ครบจะไม่มีสิทธิใช้วงเงินลดหย่อนที่ 2 ได้
  • การถือครอง: Thai ESGX ที่สับเปลี่ยนจาก LTF รวมทั้งหมด ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันชนวันนับจากวันที่ส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มายังกองทุน Thai ESGX)
หมายเหตุ: การขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลา 5 ปี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นและมีเบี้ยปรับตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนด นอกจากนี้ หากมีกำไรจากการขายหน่วยจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ทางภาษีด้วย 
  • ระยะเวลาในการสับเปลี่ยน: ภายใน 2 เดือน (คาดว่าเป็นช่วงเดียวกันกับการเปิดขายหน่วย Thai ESGX (วงเงินลดหย่อนที่ 1) คือ เริ่มเปิดให้สับเปลี่ยนหน่วย LTF มาเป็น Thai ESGX ได้ทุกวันทำการของเดือน พ.ค. - มิ.ย. 68)
ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีวงเงินลดหย่อนที่ 2 ผู้ถือหน่วย LTF จะต้องปฏิบัติตามทุกข้อดังต่อไปนี้
  1. ต้องไม่ขายและไม่สับเปลี่ยนหน่วย LTF (ไม่ว่าจะเป็นสับเปลี่ยนไปยัง LTF อื่น ทั้งภายใต้ บลจ. เดียวกัน หรือข้าม บลจ. เพราะ จะทำให้กองทุน LTF ต้นทางต้องขายหลักทรัพย์ที่ถือครองออกมาตามมูลค่า NAV ของหน่วยลงทุนที่สับเปลี่ยน และโอนเงินสดไปให้กองทุน LTF ปลายทางเพื่อนำไปลงทุนต่อ)
  2. ต้องสับเปลี่ยนหน่วย LTF ที่ถือครองทั้งหมดตามข้อ 1. ไป Thai ESGX ทั้งหมดของทุกกอง ทุก บลจ. (ยกเว้นหน่วยใน class SSF) ภายใน พ.ค. - มิ.ย. 68 ทั้งนี้ ไม่สามารถสับเปลี่ยนเพียงบางส่วนได้ แต่อาจทยอยสับเปลี่ยนไป Thai ESGX ได้ให้ครบทั้งหมดทุกกองทุน ทุก บลจ. ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 68
  3. ถือครองหน่วย 5 ปี วันชนวันนับแต่วันที่สับเปลี่ยนหน่วย LTF ไป Thai ESGX
หมายเหตุ: การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด โดย หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ Thai ESGX ปิดการขายแล้ว Thai ESGX จะเปิดขายอีกครั้งในปี 2569 และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยใช้วงเงินได้สูดสุดไม่เกิน 300,000 บาท วงเงินเดียวกับ Thai ESG ปกติ

4. กรณีผู้ถือหน่วยกองทุนรวม LTF ประสงค์จะย้ายไปกองทุนรวม Thai ESGX หากมีเงินลงทุนมากกว่า 500,000 บาท จะมีผลอย่างไร?
หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนวงเงินที่ 2 จะต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ทั้งหมดในทุกกองทุนทุก บลจ. ของผู้ถือหน่วยลงทุนรายนั้น ๆ มาเป็นหน่วยลงทุน Thai ESGX โดยหน่วยลงทุนที่สับเปลี่ยนมาแล้วรวมทั้งหมด ต้องถือครองตามเงื่อนไข ไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย (วันชนวัน นับจากวันที่ส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มากองทุน Thai ESGX)

5. สรุปแล้วในปีภาษี 2568 ผู้ลงทุนมีวงเงินที่สามารถลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกอง ESG อย่างไรบ้าง
มีกองทุนรวมกลุ่ม Thai ESG ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 วงเงิน รวมสูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท ดังนี้
  1.  เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Thai ESG ในปัจจุบัน โดยลดหย่อนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
  2. เงินลงทุนใหม่สำหรับผู้ลงทุนทุกรายที่ลงทุนใน Thai ESGX ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เปิดขายในปี 2568 โดยลดหย่อนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
  3. สำหรับผู้ถือหน่วย LTF ที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจาก LTF ทุกกองทุนไป Thai ESGX โดยมีวงเงินลดหย่อน ดังนี้
  • ปีแรก (2568): สูงสุด 300,000 บาท
  • ปีที่ 2 - 5 (2569 - 2572): สูงสุดปีละ 50,000 บาท

6. ตรวจสอบยอด LTF ที่สามารถสับเปลี่ยน ได้จากที่ใด
  • ผู้ถือหน่วยสามารถติดต่อ บลจ. และตัวแทนขายหน่วยลงทุนที่ท่านเคยใช้บริการลงทุน เพื่อตรวจสอบจำนวนหน่วยลงทุน LTF ที่ถือครอง
  •  เมื่อ Fund Connext platform สามารถให้บริการเช็คสอบยอดหน่วยลงทุน LTF ได้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบจำนวนหน่วยลงทุน LTF ที่ถือครอง ผ่านระบบดังกล่าวได้

7. สามารถสับเปลี่ยน LTF ไป Thai ESGX ข้าม บลจ. ได้หรือไม่
เงื่อนไขเพื่อให้ได้รับการลดหย่อนภาษีไม่ได้ห้ามการโอนข้าม บลจ. อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของ LTF และ Thai ESGX ของแต่ละ บลจ. ทั้งนี้ ขอให้ผู้ลงทุนติดต่อสอบถามไปยัง บลจ. ที่สนใจ หรือพิจารณาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนของกองทุนข้างต้นอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการสับเปลี่ยน

8. ผู้ลงทุนต้องขายหน่วยลงทุน LTF เพื่อสับเปลี่ยนไป Thai ESGX หรือไม่ และส่งผลให้ บลจ. ต้องขายหลักทรัพย์ออกมาหรือไม่
การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX จะใช้วิธี pay in kind ด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยของทั้งกองทุนต้นทางและกองทุนปลายทาง โดยเมื่อผู้ถือหน่วยส่งคำสั่งสับเปลี่ยนในมูลค่าเท่าใด กองทุน LTF จะโอนหลักทรัพย์ไปให้ Thai ESGX ในมูลค่าเดียวกัน ทำให้กองทุน LTF ไม่จำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในทันที ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุน LTF ถืออยู่

ที่มา: บลจ.กรุงศรี / ข้อมูลรวบรวมจาก สำนักงาน กลต. ณ 14 มี.ค. 68   และ ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวม Thai ESGX แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 126
  • Thai ESG/ Thai ESGX เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาวและสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน | ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
เอกสารประกอบเปิดด้วยโปรแกรม Acrobat Reader หากท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว คลิกเพื่อ ดาวน์โหลด โปรแกรม (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ย้อนกลับ

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน