ความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย
ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด
จากการที่เงินเฟ้อของไทยยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 7.66% ซึ่งยังคงเป็นผลจากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้น ทั้งนี้ ราคาสินค้าหลายรายการซึ่งรวมถึงค่าไฟฟ้าเตรียมตัวปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะยังคงขยับตัวขึ้นต่อไป
ด้าน ธปท. ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ในขณะที่มีหลายภาคส่วนยังคงกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสิ่งที่ ธปท. กังวลถึงผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ได้แก่ การที่เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงอาจก่อให้เกิด wage-price spiral กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจะส่งผลให้มีการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าหากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ย ความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐจะกว้างขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก และค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเกินไปก็จะกลับมาอ่อนลงเอง และค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าจากการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ในขณะที่ ธปท. ระบุว่ายังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ
ในบทความครั้งที่แล้ว ผมได้ให้ความเห็นไว้ว่าไทยอาจจะยังไม่พร้อมในการขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว โดยที่ยังมีหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ แต่เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น (cost-push inflation) ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลไม่มากต่อการลดลงของเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยให้กลับสู่ระดับปกติจึงมีความเหมาะสม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนไทยมีความใกล้เคียงปกติมากขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ย 2 – 3 ครั้งในปีนี้
ในส่วนของความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ธปท. ได้มีการสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่รัฐบาลเตรียมมีมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบเช่นกัน โดย ธปท. เน้นย้ำว่าหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้างมากกว่าผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ หากมองในแง่ดี จะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น โดยผู้บริโภคและนักลงทุนอาจเร่งลงทุนเพื่อล็อคอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าระดับในปัจจุบัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติอาจมองเป็นสัญญาณบวกถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้ ธปท. มีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) มากขึ้นหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.50% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันต่อไป และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ธปท.อาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะหากลดดอกเบี้ยลงอีก ดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะเข้าใกล้ 0% มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน และอาจส่งผลกระทบต่อระบบธนาคาร ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเพิ่ม policy space จะช่วยให้ ธปท. มีความพร้อมในการรองรับความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคต
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ตามทฤษฎี หากดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ราคาผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะเมื่อตราสารหนี้ครับอายุก็จะสามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ออกใหม่ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น ในขณะที่ราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะปรับตัวลดลงเพราะผลตอบแทนในตลาดปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ราคาตราสารหนี้ในปัจจุบันกลับปรับตัวสวนทางกับทฤษฎี กล่าวคือ ราคาตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลดลงและราคาตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาตราสารหนี้ได้ปรับตัวสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน ก็มีโอกาสสูงที่นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นมากขึ้น
กองทุนตราสารหนี้แนะนำ: KFSMART
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
ย้อนกลับ