ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด


สถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนส่งผลให้การลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐและประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการค้าในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญหลายประเภท โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งรัสเซียส่งออกน้ำมันราว 7% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก ดังนั้น การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอบ่างรวดเร็ว ถึงแม้ยังไม่มีการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียก็ตาม

สำหรับบทความในวันนี้ ผมขอรวบรวมข้อมูลจากหลายๆที่มานำเสนอจากหลายๆแหล่งในหลายๆด้านเพื่อประกอบการวิเคราะห์ในการตัดสินใจลงทุน

รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 1.75% ของเศรษฐกิจโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยราว 3 เท่า ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มากนัก อย่างไรก็ดี รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ โดยนอกจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกแล้ว รัสเซียยังส่งออกไททาเนียมซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินมากเป็นอันดับสองของโลก ส่งออกนิกเกิลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราว 7% ของอุปทานโลก ส่งออกพัลลาเดียมซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ราว 25-30% ของอุปทานโลก และเป็นผู้ส่งออกทองแดง อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ไม้รายใหญ่ของโลก

ถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจรัสเซียไม่ได้ใหญ่มาก แต่รัสเซียมีสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น การคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปซึ่งนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก โดยเยอรมนีนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราว 38% จากรัสเซีย โดยที่การผลิตไฟฟ้าในเยอรมนีราว 20% ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ  ดังนั้น หลายประเทศในยุโรปจึงลังเลที่จะคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เนื่องจากการหาแหล่งพลังงานจากผู้ค้ารายใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในขณะที่สหรัฐซึ่งเป็นผู้นำในการที่จะคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียก็อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากถึงแม้สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้เกินความต้องการ แต่สหรัฐยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน เพราะไม่ใช่ทุกรัฐในสหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้ การนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในหลายรัฐยังคงมีราคาถูกกว่าการขนส่งมาจากแหล่งผลิตน้ำมันในสหรัฐ และถึงแม้สหรัฐนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไม่มาก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก


นักวิเคราะห์หลายรายยังคงมีคำถามว่า การคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลจริงหรือ โดยนาย Josh Lipsky ผู้อำนวยการของ GeoEconomics Center at the Atlantic Council ตั้งข้อสังเกตุว่า ถึงแม้รัสเซียจะโดนคว่ำบาตรน้ำมันจากสหรัฐและชาติตะวันตก แต่รัสเซียยังคงสามารถส่งออกน้ำมันให้ประเทศอื่นๆได้ และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก กล่าวคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นมาเกือบเท่าตัวนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน ดังนั้น ถึงแม้รัสเซียขายน้ำมันได้น้อยลงราวครึ่งหนึ่ง แต่รัสเซียยังคงมีรายได้จากการขายน้ำมันลดลงไม่มาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อ  สำหรับสินค้าประเภทอื่นๆก็เข่นเดียวกัน รัสเซียยังคงสามารถส่งออกผ่านประเทศอื่นได้เช่นกัน  ในขณะที่การที่จะเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากช่วงโควิดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่ได้ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สำหรับประเทศไทย ไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียเพียงราว 0.6% และส่งออกไปยูเครนราว 0.1% ของยอดส่งออกทั้งหมดในปี 2564 โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ยาง  ดังนั้น การส่งออกไปรัสเซียจึงส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกโดยรวมของไทยเพียงเล็กน้อย  อย่างไรก็ดี ไทยอาจได้รับผลกระทบในทางอ้อมเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจช้าลง และประเทศในยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกราว 8% ของยอดส่งออกของไทยทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ โดยในปี 2562 ชาวรัสเซียเกือบ 1.5 ล้านคนเดินทางเข้ามาในไทย คิดเป็น 3.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียราว 31,000 คนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย  อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงอาจไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก แต่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า

ในส่วนของภาคธุรกิจ บริษัทใหญ่ๆในไทยเพียงไม่กี่บริษัทมีธุรกิจอยู่ในรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี มีชาวรัสเซียจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ดังนั้น การที่ธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกคว่ำบาตรจึงส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการเงินของนักธุรกิจรัสเซียในไทย เช่น ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดของธนาคารที่ถูกคว่ำบาตรได้ และไม่สามารถโอนเงินชำระค่าสินค้าได้

ปัญหารัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบโดยตรงต่อไทยในแง่ของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก ในขณะที่ในส่วนอื่นๆไม่มีผลกระทบโดยตรงมากนัก  อย่างไรก็ดี ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาในห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ในส่วนของการลงทุน นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำควรชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน ในขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และอาจมองว่าปัญหารัสเซีย-ยูเครนจะจบเร็ว หรืออาจมองเป็นโอกาส เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางรายการทดแทนสินค้าจากรัสเซีย รวมถึงอาจมองว่านักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นตลาดที่ปลอดภัยจากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ก็อาจตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับที่เหมาะกับท่าน 
 
สำหรับกองทุนที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน นอกจากกองทุนหุ้นไทยที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในปีนี้แล้ว กองทุนต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุน KFHHCARE เป็นกองทุนแบบ defensive จึงไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามมากนัก ในขณะที่ภาวะการระบาดของโอมิครอน ถึงแม้อาการจากการติดเชื้อไม่รุนแรง แต่สามารถติดเชื้อได้ง่าย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบางจึงยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง  และอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจคือ กองทุน KFCYBER ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ เมตาเวิร์ส และสงครามไซเบอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
 
ข้อมูลกองทุน คลิก: KFHHCARE-A | KFHHCARE-D | KFCYBER-A 

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว