SSF / RMF เลือกให้ตอบโจทย์และซื้อช่วงไหนถึงจะดี?
สำหรับปี 2564 นี้ เราสามารถวางแผนการออมเพื่ออนาคตและลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุควบคู่กับสิทธิลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนใน SSF / RMF
คำถามยอดฮิตที่ตามมาคือ ระหว่าง SSF / RMF จะซื้อกองทุนไหนดี คำตอบคือต้องดูจากวัตถุประสงค์ในการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุน เช่น หากมีเป้าหมายจะลงทุนในระยะเวลาประมาณ 10 ปี แน่นอนว่าตามเงื่อนไขของสรรพากรการลงทุนใน SSF ย่อมดีกว่าแน่นอน เพราะมีระยะเวลาที่ต้องถือครองเพียง 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อ แต่ถ้าวัตถุประสงค์คือการลงทุนระยะยาวสำหรับการเกษียณแล้วล่ะก็ RMF คือคำตอบที่ใช่สำหรับคุณ เนื่องจากจะขายคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีปฎิทิน และ ดังนั้น SSF / RMF จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนระยะยาวที่ช่วยสร้างวินัยการลงทุนให้เรารอจนถึงเป้าหมายและช่วยเพื่อความมั่นใจในการเตรียมเงินเพื่ออนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาลงทุนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่เริ่มลงทุนตอนอายุ 50 ปี การลงทุนใน RMF จะใช้ระยะเวลาลงทุนที่สั้นกว่าการลงทุนใน SSF เพราะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาในการลงทุนเพียง 5 ปีเท่านั้น ในทางกลับกันหากเลือกลงทุนในกองทุน SSF ตอนอายุ 50 ปี จะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปี ทำให้สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 60 ปี ดังนั้น ระยะเวลาและช่วงอายุในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหากมีความจำเป็นที่ต้องขายคืนหน่วยลงทุนออกมาก่อนครบระยะเวลาการลงทุน จะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนมาพร้อมกับค่าปรับอีกด้วย
การวางแผนภาษีด้วย SSF / RMF ที่ดีควรเริ่มตั้งแต่ต้นปี ถึงตอนนี้อาจมีเสียงค้านในใจของหลายคนว่า ทำไมต้องต้นปี? รอปลายปีค่อยลงทุนก็ได้ กว่าจะยื่นภาษีตั้งเดือนมีนาคมของปีถัดไป พร้อมกับอาจมีเสียงสนับสนุนอีกว่า ปลายปีที่แล้วหุ้นลงอีกต่างหาก ถ้าจะลงทุน SSF / RMF ที่ลงทุนในหุ้น รอซื้อปลายปีได้ราคาหน่วยลงทุนถูกกว่าต้นปีอีก หรือหลายคนก็ใช้วิธีรอจังหวะราคาลงค่อยซื้อ จริงๆ แล้ววิธีเลือกช่วงเวลามีหลายแบบ หลายเหตุผลต่างกันไป เรามาลองเปรียบเทียบกันดูดีกว่า
กองทุน SSF / RMF ซื้อช่วงไหนดี?
อันที่จริงก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ คุณควรจะตรวจสอบว่า
คุณสามารถลงทุนกับ SSF / RMF ได้เท่าไร? แล้วต่อมาจึงเลือกช่วงเวลาลงทุน ซึ่งก็จะมีทั้ง
สายเปย์แบบทุ่มเงินก้อน คือทุ่มซื้อทีเดียวปลายปีเต็มแมกซ์
สายแข็ง คือใจแข็งไม่ดูว่ามูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ขึ้นหรือลง กำหนดเลยว่าจะซื้อเดือนละเท่าไหร่ แล้วก็มีวินัยทำตามแผนทุกเดือน แล้วก็มี
สายช้อน รอจังหวะช้อนซื้อเวลา NAV ลงแรงๆ กับสุดท้ายคือ
สายกลาง คือลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน บวกกับซื้อเพิ่มเวลา NAV ลงด้วยเพื่อให้ครบตามสิทธิลดหย่อนภาษี
เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเดินสายไหน มาทำความเข้าใจกับ 4 วิธีนี้กันก่อนดีกว่า
1. สายเปย์ ทุ่มซื้อช่วงปลายปีทีเดียว
หลายคนเลือกสายนี้ด้วยเหตุผลว่า ปลายปีจะคำนวณรายได้รวมทั้งปีได้ชัดเจน เพราะนอกจากเงินเดือนที่เท่ากันทุกเดือนแล้ว อาจจะมี Bonus หรือ Commission และรายได้รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่แน่นอนมารวมด้วย มองจากมุมนี้ก็ถือว่าช่วยป้องกันการซื้อเกินสิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทำให้รู้ว่าควรซื้อ SSF เท่าไหร่ที่จะไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท ในส่วนของ RMF ก็สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้เช่นกัน แต่ทั้ง SSF/ RMF เมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยลงทุนปีไหนก็สามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีของปีนั้น แต่นักลงทุนสายเปย์ก็ต้องระวังว่าเราจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการซื้อ SSF / RMF ในช่วงปลายปี ถ้าเราไม่แบ่งเงินที่รับมาแต่ละเดือนไว้บ้าง เราอาจมีเงินไม่พอที่จะซื้อ SSF / RMF ได้เต็มจำนวนที่ตั้งใจไว้ แถมช่วงปลายปีมักจะมีรายจ่ายพิเศษ อย่างของขวัญคริสต์มาส ปาร์ตี้ปีใหม่ หรือทริปส่งท้ายปี ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเยอะอีก เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นสายเปย์แบบนี้ก็ต้องเตรียมเงินไว้ดีๆ
อีกเหตุผลคือความเชื่อว่าการซื้อ SSF / RMF ตั้งแต่ต้นปี เหมือนเราต้องจ่ายเงินไปก่อน ทั้งๆ ที่กว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจริงๆ ก็ตั้งเดือนมีนาคมของปีถัดไป เหมือนเงินไปจมอยู่ก่อนตั้งนาน ถ้ามองอีกด้าน
การลงทุน SSF / RMF เร็วก็ทำให้เงินของเรามีโอกาสเติบโตจากผลตอบแทนที่สะสมไว้ได้มากกว่าการเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากเฉยๆ ไปจนถึงปลายปี
สำหรับใครที่เล็ง SSF/ RMF ที่ลงทุนในหุ้นไทย อาจบอกว่าลงทุนต้นปีแล้ว NAV แพง รอปลายปีให้หุ้นตกแบบปีที่แล้วดีกว่า NAV ลดลงไปได้ซื้อของถูก ข้อนี้ก็ไม่จริงเสมอไป
ตามสถิติย้อนหลังของตลาดหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553 – 2563) มี 5 ปีที่ช่วงปลายปี SET Index ต่ำกว่าต้นปี ที่เหลืออีก 5 ปีหุ้นขึ้นช่วงปลายปี จึงเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่ารอซื้อปลายปีจะได้ NAV ที่ราคาถูกกว่า แล้วถ้าถึงปลายปีเป็นโค้งสุดท้ายของการลดภาษี NAV จะถูกหรือแพงก็คงต้องซื้อแล้ว (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวบรวมโดย บลจ.กรุงศรี ณ 22 ม.ค. 64)
แล้วถ้าจะซื้อกองทุนช่วงอื่นล่ะ? ถ้าอย่างนั้นอาจจะต้องจับจังหวะลงทุนตามวิธีการที่ 2 นี้
2. สายช้อน รอจังหวะช้อนซื้อเวลา NAV ลงแรงๆ
หลักการของวิธีนี้คือการคาดการณ์สถานการณ์การลงทุน แลัวจับจังหวะที่ NAV ปรับตัวลดลง จึงค่อยซื้อกองทุน เพื่อให้ได้หน่วยลงทุนในราคาที่ถูกลง มีโอกาสกำไรได้มากขึ้น แต่การจะคาดการณ์สถานการณ์ของสินทรัพย์ต่างๆ ที่กองทุนไปลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือตราสารหนี้ เราต้องมีการติดตามข่าวสาร วิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจมากมายที่จะมากระทบกับการขึ้นลงของ NAV
และในความเป็นจริง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ณ ขณะนั้น NAV ลดลงต่ำสุดแล้วหรือยัง ที่เราคิดว่าต่ำแล้ว อาจมีวันที่ต่ำกว่า หรือเราคิดว่ารอก่อนเดี๋ยว NAV จะตกอีก ปรากฎว่ากลับปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีของ SSF/ RMF ที่ลงทุนในหุ้นจะยิ่งมีความผันผวนสูง การจับจังหวะลงทุนให้แม่นยำ 100% จึงเป็นเรื่องยากมาก
ถ้าไม่มีเวลามาเกาะติดสถานการณ์การลงทุน แล้วไม่อยากลุ้นว่าจะลงทุนได้ถูกจังหวะมั้ย มาลองดูวิธีที่ 3 กัน
3. สายแข็ง เฉลี่ยการลงทุนทุกเดือนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA)
Dollar Cost Averaging (DCA) หมายถึง “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย” โดยทยอยซื้อกองทุนรวมในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน เช่น ตั้งใจจะลงทุน SSF / RMF ในปีนี้ 60,000 บาท ก็ลงทุนทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท โดยไม่สนใจราคาหน่วยลงทุนว่าจะขึ้นหรือลง
พูดง่ายๆ DCA คือการลงทุนแบบอัตโนมัติ จนกว่าจะครบจำนวนเงินตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
บลจ.กรุงศรี มีบริการให้ผู้ลงทุนสามารถกำหนดรายการซื้อหน่วยลงทุนแบบประจำทุกเดือน หรือที่เรียกว่า Regular Saving Plan ได้ โดยเลือกได้เลยว่าจะให้ซื้อหน่วยลงทุนทุกวันที่เท่าไหร่ของเดือน เดือนละกี่บาทสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะเวลากี่เดือน ซึ่งอาจจะตั้งไว้ยาว 1 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้
ดังนั้น หากวันที่เรากำหนดการซื้อไว้เป็นวันที่ราคา NAV ของ SSF / RMF ลดลง เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าเดือนไหน NAV ปรับขึ้นในวันที่เรากำหนดซื้อไว้ เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง
การลงทุนแบบ DCA มีข้อดีอย่างไร?
DCA เป็นวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มาดูกันว่าวิธีนี้มีข้อดีอย่างไร ทำไมนักลงทุนมากมายต่างเลือกใช้วิธีนี้กัน
- ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะก็ลงทุนได้: ใครทุนน้อยหรือต้องการใช้เงินสดเพื่อใช้จ่ายก่อน ก็ลงทุนควบคู่ด้วยได้ไม่ยาก เพราะเฉลี่ยเงินลงทุนในแต่ละเดือนไม่มากนัก เช่น 500 บาทเท่านั้น ทำให้สามารถจัดสรรการเงินได้ง่ายขึ้น
- ช่วยกระจายความเสี่ยง: เมื่อตลาดอยู่ในช่วงภาวะผันผวน เราไม่รู้หรอกว่าตลาดจะเป็นขาขึ้น หรือ ขาลง วิธีนี้ทำให้เรามีโอกาสเฉลี่ยต้นทุนของกองทุนที่ซื้อ และอาจจะได้ผลลัพธ์ดีกว่าการเก็งจังหวะซื้อด้วยตัวเองด้วย
- ช่วยให้คุณออมเงินได้ตามกำหนด: การลงทุนแบบ DCA จะช่วยสร้างวินัยแก่ผู้ลงทุน และเกิดความต่อเนื่อง เป็นวิธีที่เหมาะมากสำหรับคนที่เป็นมือใหม่หัดลงทุน คนทำงานประจำก็มีความได้เปรียบ เพราะมีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน ถ้ากำหนดซื้อทุกวันเงินเดือนออก ก็จะช่วยให้เรา “เก็บเงิน (ไปลงทุน)ก่อนใช้” มั่นใจได้ว่าไม่ใช้เพลินจนเงินหมดแน่ๆ
- ไม่ต้องติดตามภาวะตลาดตลอดเวลา: การลงทุนแบบ DCA ทำให้เราไม่ต้องคอยติดตามข้อมูลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนรวดเร็ว แล้วมาเก็งว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับราคาของกองทุนว่าจะซื้อได้แพงหรือถูก การซื้อสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นการถัวเฉลี่ยราคาอยู่แล้ว จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่มีเวลาวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่กระทบกับงานที่ทำ
4. สายกลาง ลงทุนสม่ำเสมอ + ลงทุนเพิ่มบางช่วงเวลา
การลงทุนแบบนี้จะมีข้อดีเหมือนวิธีที่ 3 บวกเพิ่มด้วยความยืดหยุ่น เพราะเงินลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกกระจายลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน อีกส่วนหนึ่งนำมาลงทุนเพิ่มบางช่วงเวลา เช่น ลงทุนเดือนละ 2,000 บาท ทุกเดือน พอปลายปีคำนวณรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้แน่นอนแล้ว เห็นว่ายังมีสิทธิซื้อ SSF / RMF เพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก จึงค่อยซื้อกองทุนเพิ่ม หรือเดือนไหนมีรายได้เพิ่ม ก็นำมาลงทุนเพิ่มเป็นครั้งคราว เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้ซื้อ SSF / RMF ได้เต็มสิทธิภาษี
หรือบางคนอาจนำเงินส่วนที่สองมาจับจังหวะลงทุนตามวิธีที่ 2 คือรอซื้อกองทุนเพิ่มเมื่อเห็นว่ามีสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะส่งผลให้กองทุนที่เลือกมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก
แต่ละวิธีการมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป สำหรับมนุษย์เงินดือน ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเกาะติดใกล้ชิดตลาดการลงทุนอย่างจริงจัง วิธีที่ 3 กับ 4 น่าจะช่วยให้การวางแผนลงทุน SSF / RMF สะดวกและง่ายดายขึ้น และการลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือนยังทำให้ได้รับโปรโมชั่นพิเศษมากขึ้นด้วย
ดูข้อมูลโปรโมชั่น คลิกที่นี่
ส่วนจะเลือก SSF / RMF กองทุนไหนดี ลองดูข้อมูลกองทุนได้ก่อน
คลิกที่นี่: SSF / RMF
สรุป
เราสามารถลงทุนได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นต้นปีหรือปลายปี สำหรับคำถามว่าช่วงเวลาใดที่เรียกว่าดีที่สุด คงต้องบอกว่า “ดีที่สุด” สำหรับแต่ละคนอาจจะต่างกัน ขึ้นกับมุมมองการลงทุนและสไตล์การบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของตนเอง แแต่ถ้าหากคุณตัดสินใจลงทุนแบบ DCA คือกำหนดซื้อกองทุนไว้แล้วสม่ำเสมอทุกเดือน คุณก็ไม่จำเป็นต้องคอยติดตามสภาวะการลงทุนหรือวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เพื่อหาจังหวะลงทุนเป็นเงินก้อน การลงทุนของคุณก็จะง่ายขึ้น
สนใจเริ่มต้นวางแผนลงทุนแบบประจำ (Regular Saving Plan) คลิกที่นี่
SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม | RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน / ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
ย้อนกลับ