ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง 2562


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลง 10.82% ในปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่แข็งแรงนัก โดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 2.8% และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าที่คาด     

ดังนั้น บรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีความตื่นเต้นตั้งแต่วันแรก เพราะการตัดสินใจหรือการกระทำใดๆของประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ โดยผลการเจรจาที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดคือ สามารถตกลงกันได้บางส่วน และมีการขยายระยะเวลาในการขึ้นภาษีออกไป เพราะน่าจะยังคงมีข้อตกลงหลายอย่างที่สหรัฐเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามได้ยาก ดังนั้นจีนจึงอาจใช้กลยุทธ์ในการชะลอเวลาให้ยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า เพื่อที่จีนจะได้มีเวลาในการปรับตัวมากพอ เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ย้ายฐานการผลิต หาประเทศคู่ค้าใหม่ทดแทน เป็นต้น รวมถึงอาจคาดหวังว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ทางฝ่ายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็อาจจะเลือกที่จะสร้างความปั่นป่วนต่อไป เพื่อเรียกคะแนนเสียงและสร้างกระแสให้แก่ตนเอง 

ในกรณีเลวร้าย จีนอาจจะยุติการเจรจาและเดินหน้าตอบโต้สหรัฐเต็มรูปแบบ เพราะจีนมีศักยภาพในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก เนื่องจากนโยบายของจีนในปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในภาวะผ่อนคลายมากนัก อีกทั้งจีนคงเล็งเห็นแล้วว่าหลายประเทศพร้อมที่จะร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนและไม่ปฏิบัติตามที่ผู้นำสหรัฐเรียกร้อง สังเกตได้จากในช่วงหลังๆนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเริ่มให้ความเห็นที่แข็งกร้าวต่อแนวทางของสหรัฐมากขึ้น

สำหรับกรณีที่ดีที่สุดคือการที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ และยุติการทำสงครามการค้าทันที และสหรัฐประกาศจะไม่ทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆเพิ่มเติม ในกรณีนี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นทั่วโลกกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน และเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่ก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

ดังนั้น การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่อาจจะน้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เพราะตลาดได้ตอบรับเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมาพอสมควรแล้ว อีกทั้งหลายๆประเทศเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นหรือรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยและการกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือคณะรัฐมนตรีและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแกนนำรัฐบาลยังคงเป็นชุดเดิม ส่งผลให้นโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง และจะมีผู้แทนราษฎรที่มีความใกล้ชิดกับปัญหาของประชาชนมาร่วมกำหนดนโยบาย น่าจะทำให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตดี และการลงทุนภาครัฐที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลายประเทศเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในไทยหลังจากที่ไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และอาจมีแรงกดดันเพิ่มจากการแข็งค่าของเงินบาทหากเฟดประกาศลดดอกเบี้ย

ดังนั้น หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มาก การเพิ่มการลงทุนในหุ้นมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดี หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนออกมาในเชิงบวก และตลาดหุ้นไทยอาจได้ประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าจากสภาพคล่องในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงในช่วงก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปมาก ส่งผลให้น้ำหนักการลงทุนอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และต้องกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ดี การลงทุนควรเป็นการเลือกหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี หรือ เลือกลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก เพราะหุ้นบางตัวที่มีพื้นฐานไม่ดีอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาด

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก อาจเพิ่มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีการบริหารเชิงรุก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางดอกเบี้ย โดยกองทุนสามารถเพิ่มหรือลดอายุเฉลี่ยของกองทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์
ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลต่างๆและประเมินระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว