เตรียมตัวรับมือปี 2018




โดย ศิริพร  สินาเจริญ ,CFA  กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี

ปี 2017 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นอีกปีที่ดีของการลงทุนกันเลยทีเดียว เพราะถ้าดูจากผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆจะพบว่าพร้อมใจกันปรับขึ้นค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยมีการปรับขึ้นเฉลี่ย 10%-40% กันเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดยังมีความกังวลกันว่า หากสหรัฐฯมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและมีการดำเนินนโยบายต่างๆที่เน้นการเติบโตมากขึ้นจะทำให้กระแสเงินลงทุนหมุนกลับไป จนส่งผลให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจอ่อนค่าลง และอาจทำให้ตลาดหุ้นในปี 2017 ปรับตัวผันผวนได้เช่นกัน  
 

ทั้งนี้ ผลที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบแต่อย่างใด โดยค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังคงปรับตัวแข็งค่า ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ ในปี 2017 นี้สหรัฐฯยังไม่ได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอะไรในเชิงรูปธรรมมากนักและปัจจัยที่ 2 คือ เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงมีการฟื้นตัวได้ดี การค้าขายและการส่งออกเริ่มกลับมามากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศไทยที่ GDP กลับมาเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลให้ Current Account เกินดุลอย่างมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยปรับตัวแข็งค่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสูงถึง 8% เลยทีเดียว
 
สำหรับในปีหน้า 2018 ที่จะถึงนี้ มีความเสี่ยงอะไรที่ควรให้ความสนใจ  เราลองมาดูกันค่ะ
  1. สภาพคล่องที่เริ่มปรับลดลง โดยธนาคารกลางหลักของโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ได้เริ่มทยอยปรับลดการซื้อสินทรัพย์ หรือมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) ลงภายหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศว่าจะทำการลดขนาดงบดุล โดยการปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities: MBS) ที่ถือครองอยู่ครบอายุโดยไม่นำไป Reinvest ต่อเป็นวงเงินเดือนละ  1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นทีละ  1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกๆไตรมาส จนไปถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี2017 ด้านธนาคารกลางยุโรปก็ได้ประกาศลดวงเงินการทำ QE ลงเช่นเดียวกัน จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค. -  ก.ย. 2018   นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้เริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ลงเช่นกันภายหลังการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control ทั้งนี้ หากเราลองคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจาก 3 ธนาคารกลางขนาดใหญ่แล้วจะพบว่าสภาพคล่องแท้จริงยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ในสัดส่วนที่ลดลงมาเรื่อยๆ จนเริ่มลดลงเป็นลบจริงๆในช่วงไตรมาส 1 ปี 2019 ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้มีการปรับตัวสูงขึ้นได้
  2. ความเสี่ยงทางการเมืองในฝั่งยุโรปยังไม่จบ ล่าสุดแม้ว่าการเลือกตั้งของเยอรมันจะผ่านพ้นไปแล้ว โดยพรรคของนางอังเกลา แมร์เคิลได้รับชัยชนะ แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มาจาก 3 พรรคการเมืองได้สำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถตกลงเรื่องนโยบายกันได้ และอาจมีแนวโน้มที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งในปีหน้าอิตาลีก็จะมีการจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. 2018 ซึ่งจากผลสำรวจล่าสุดคะแนนระหว่างพรรครัฐบาลปัจจุบันกับพรรคต่อต้าน EU อย่างพรรค M5S (Five Star Movement) ก็มีคะแนนที่ค่อนข้างสูสีกันอยู่
  3. การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีน ที่มุ่งเน้นนโยบายการเงินที่รัดกุมเพื่อลดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อที่มีปัญหาหนี้สินอยู่ในระดับสูง ปฎิรูปเศรษฐกิจโดยลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหล็ก และถ่านหิน มุ่งเน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ หันมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และส่งเสริมสินค้านวัตกรรมแทน
  4. สิ่งที่สำคัญสุดคงต้องจับตาดูการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน เพราะต้องยอมรับว่า P/E ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตกันเกือบหมด หากบริษัทต่างๆไม่สามารถทำกำไรได้ตามคาดหมายก็อาจเป็นสาเหตุทำให้นักลงทุนขายทำกำไร และปรับลดราคาเป้าหมายลงมาได้
 
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยพื้นฐานที่เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับไม่สูงจนเกินไป และการดำเนินนโยบายทางการเงินยังคงมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป  ดังนั้น ปี 2018 น่าจะยังเป็นปีที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงแต่อาจต้องเผชิญกับความผันผวนอยู่บ้าง ผู้ลงทุนต้องพิจารณาลงทุนด้วยความระมัดระวังมากขึ้นและเน้นลงทุนในกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีบนระดับราคาที่เหมาะสมเป็นสำคัญ

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว