ลงทุนแค่ชนะเงินเฟ้ออาจไม่พอ


Fund Insight : โดย ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน  บลจ.กรุงศรี จำกัด

นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้เพียง ขอให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อรักษาระดับเงินลงทุนไม่ให้ด้อยค่าไปจากการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ 
 
สำหรับนักลงทุนที่อาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมควรลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ผมขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ครับ สมมุติว่า ณ ตอนนี้ราคาข้าวแกงจานละ 50 บาท แต่ในปีหน้าราคาข้าวแกงแบบเดียวกันร้านเดียวกันขยับเพิ่มขึ้น 5% เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ เป็น 52.50 บาท  และสมมุติว่านักลงทุนใช้เงินลงทุน 50 บาท ซึ่งหากต้องการให้เงินลงทุนของท่านสามารถซื้อข้าวแกงดังกล่าวได้เหมือนเดิม นักลงทุนควรได้รับผลตอบแทนการลงทุน 5%  หากไม่มีการลงทุนหรือลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำกว่า 5% เงินของท่านจะไม่สามารถซื้อข้าวแกงแบบเดิมได้ กล่าวคือ เงินที่ท่านมีอยู่ด้อยค่าลง
 
ดังนั้น การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ จึงเป็นเป้าหมายทั่วไปที่นักลงทุนตั้งไว้  อย่างไรก็ดี นักลงทุนจำนวนมากมองว่าการลงทุนเพียงเพื่อชนะเงินเฟ้ออาจไม่เพียงพอ เพราะรู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้นทุกวันและที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆก็คือ เวลาราคาสินค้าปรับขึ้นมักจะไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาอาหารดังตัวอย่างเรื่องข้าวแกงที่กล่าวมา ซึ่งในความเป็นจริงร้านอาหารมักจะปรับขึ้นจาก 50 บาท เป็น 55 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10% และเมื่อปรับราคาขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงใดติดลบ ราคาข้าวแกงก็มักไม่ปรับลดตาม
 
ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของเดือนตุลาคมที่กระทรวงพาณิชย์รายงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 0.11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหมายความว่าโดยรวมแล้วราคาสินค้าในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเพียง 0.26%
 
ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวเชื่อว่าหลายท่านคงไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งก็แพงขึ้นจริงๆครับ โดยเฉพาะหมวดอาหารสดที่เพิ่มขึ้น 4.63% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว และค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับขึ้น 6.14% จากการปรับขึ้นราคารถเมล์และรถสองแถว แต่เนื่องจากการคำนวณอัตราเงินเฟ้อจะถูกคำนวณจากราคาสินค้า และบริการนับหมื่นรายการทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรและประเภทสินค้าและบริการได้อย่างเหมาะสม โดยที่สินค้า และบริการบางรายการเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา (เช่น ปูนซีเมนต์ ยางรถยนต์ สายไฟฟ้า แชมพู บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ ฯลฯ) สินค้าบางรายการเป็นสินค้าที่บางท่านอาจไม่เคยใช้ หรือนานๆจึงได้ใช้ (เช่น รถไถนา เครื่องสำอาง ฯลฯ) ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดจึงถูกบดบังโดยการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ รวมถึงการปรับลดลงของราคาน้ำมันในเดือนตุลาคม
 
จากรายงาน “สรุปผลเบื้องต้นการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 20,903 บาทในปี 2552 เป็น 26,371 บาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นราว 26% ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 16,205 บาทในปี 2552 เป็น 21,236 บาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นราว 31% กล่าวคือ ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และ สะท้อนว่าหากพึ่งรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงต้องหารายได้เพิ่มโดยทำงานเพิ่มขึ้น หรือลงทุนเพื่อหาโอกาสในการรับผลตอบแทนเพื่อให้มีรายได้อย่างเพียงพอ
 
จะเห็นได้ว่าการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาระดับความสามารถในการใช้จ่าย เพราะแต่ละบุคคลมีรูปแบบการใช้เงินที่แตกต่างกัน จึงประสบกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่แตกต่างกัน        ดังนั้น นักลงทุนจึงอาจปรับเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนให้สอดคล้องกับตัวท่าน แต่ต้องเป็นการลงทุนที่ไม่เกินกว่าระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้  โดยนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจใช้วิธีเพิ่มเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น จากที่เคยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเดือนละ 10,000 บาท ก็อาจลงทุนเพิ่มเป็นเดือนละ 11,000 บาท โดยผลตอบแทนการลงทุนอาจจะได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ท่านจะมีเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมเดือนละ 10% ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะรักษาระดับความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคต 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว