รุก-รับด้วยกองทุนไหนดี เมื่อเฟดมีความไม่แน่นอน


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด



ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีการปรับมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายครั้งตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา โดยในช่วงต้นเดือนตลาดคาดว่าเฟดอาจประกาศลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง หรืออาจไม่ประกาศลดดอกเบี้ยในปีนี้ หลังแถลงการณ์การประชุมเฟดระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้าที่อัตราเงินเฟ้อจะขยับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงกลางเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดกลับมาคาดหวังว่าเฟดจะประกาศลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะประกาศลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน หรือในอีกกว่า 3 เดือนถัดไป เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดว่าน่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอที่เฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดเป็นลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในเดือนธันวาคม หรืออาจไม่มีการลดดอกเบี้ยเลยในปีนี้ หลังรายงานการประชุมเฟด รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านระบุว่า อัตราดอกเบี้ยอาจทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านระบุว่า พร้อมที่จะลงมติให้ขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลให้การประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่เหมาะสม นอกจากนี้ การที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแข็งแกร่งโดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และกิจกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการที่เติบโตดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงช้า หรืออาจกลับมาเร่งตัวขึ้น

ความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลจากการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงใด ไม่ได้เกิดจากการปรับมุมมองของเฟด เพราะความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดโดยรวมไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ เฟดต้องการความมั่นใจว่าเงินเฟ้อมีทิศทางปรับตัวลดลง ก่อนที่จะเริ่มประกาศลดดอกเบี้ย ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอัตราดอกเบี้ยอาจทรงตัวที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ก็เป็นเพียงการตอกย้ำว่าเฟดยังคงไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ดังนั้น หากนักลงทุนมองการลงทุนในระยะสั้น หรือไม่สามารถรับความผันผวนของการลงทุนได้มากนัก ก็อาจจะไม่เหมาะที่จะเข้าลงทุนในกองทุนตราสารทุน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง จากการที่ตลาดอาจปรับเปลี่ยนมุมมองการลงทุนบ่อยครั้ง ดังเช่นในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการปรับมุมมองการลงทุนถึง 3 ครั้ง และส่งผลให้ตลาดหุ้นและตราสารหนี้แกว่งตัวผันผวนรุนแรง โดยนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอให้ทิศทางดอกเบี้ยมีความชัดเจนก่อนที่จะขยับขยายไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว หรือกองทุนตราสารทุน

สำหรับนักลงทุนที่เน้นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว การปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยในระยะยาวยังคงเป็นขาลง ถึงแม้เจ้าหน้าที่เฟดบางท่านระบุว่าพร้อมที่จะลงมติขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปัจจุบันที่ระดับ 5.25% - 5.50% เมื่อเทียบกับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) ซึ่งเป็นดัชนีที่เฟดใช้ประเมินเงินเฟ้อ ซึ่งอยู่ที่ 2.8% ในเดือน มี.ค. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 2.50% ในขณะที่โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยน่าจะมีน้อยมาก เพราะ core PCE ที่ระดับปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 5.58% เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งเป็นจุดที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับปัจจุบันอยู่มาก ดังนั้น ถึงแม้ตัวเลขบ่งชี้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลให้เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อของสหรัฐอาจชะลอช้ากว่าที่คาด โดยเป็นผลจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัว รวมถึงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน นอกจากนี้ ผลจากฐานสูงในปีก่อนหน้าเริ่มส่งผลน้อยลง ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงมากที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะลดลงช้ากว่าที่คาด ซึ่งหากมองในแง่ดี อัตราดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางขาลงยาวนานกว่าที่คาด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความผันผวนของตลาดก็จะดำเนินไปต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน และการที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวที่ระดับสูงยาวนานก็อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้น นักลงทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจึงมีหลายทางเลือก
  1. ลงทุนครั้งเดียวเมื่อตลาดย่อตัวลงมาจากความกังวลของตลาด และถือยาว 3 – 5 ปี
  2. ทยอยลงทุนเป็นช่วงๆ โดยเข้าลงทุนเมื่อตลาดมีความกลัวเพิ่มขึ้น และถือยาว 3 – 5 ปี
  3. เข้าลงทุนเมื่อตลาดมีความกลัว และขายทำกำไรเมื่อตลาดมีมุมมองเชิงบวกมากเกินไป
  4. รอให้ทิศทางดอกเบี้ยมีความชัดเจน จึงเริ่มเข้าลงทุน
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนที่นำเสนอถูกพิจารณาจากข้อมูลในปัจจุบัน โดยหากสถานการณ์เปลี่ยนไป กลยุทธ์บางข้ออาจกลายเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เหมาะสมก็ได้ นอกจากนี้ นักลงทุนควรพิจารณาเลือกกลยุทธ์และการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

บลจ.กรุงศรี แนะนำลงทุน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
กองทุน KF1MILD | KF1MEAN | KF1MAX | KFGLOBAL | KFGLOBFX* | KFHTECH | KFINDIA และ KFSINCFX มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ (*กองทุนไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน)
 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่





 


สอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว