ESG หนึ่งในเมกะเทรนด์ระดับโลก


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด


ในปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือที่เรียกกันว่า ESG ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ระดับโลกที่กำลังมาแรง และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่มีเม็ดเงินลงทุนใน ESG เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้แรงสนับสนุนจาก 193 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย  ทำให้การลงทุนในธีม ESG  มีความน่าสนใจและช่วยเพิ่มโอกาสให้พอร์ตการลงทุนเติบโตได้อย่างยั่งยืน  เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเชื่อมโยงกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsible Investing หรือ SRI) และเป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investing หรือ SI) ทั้งนี้ นักลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากต้องการให้เงินลงทุนของเขาเป็นเสมือนรางวัลที่ให้แก่บริษัทที่คำนึงถึง ESG ด้วย เรียกว่าเป็นการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับโอกาสผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย บริษัทต่างๆให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น เพราะเห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวในหลายๆด้าน เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเข้าช่วยเหลือชุมชน การสนับสนุนการศึกษา ฯลฯ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการยกระดับสังคมและเศรษฐกิจไทย และจะส่งผลดีต่อบริษัทต่างๆในอนาคต อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้นหรือกองทุน ESG กลับยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมากเท่าที่ควร 

สำหรับตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ ESG ในปัจจัยด้านต่างๆมีดังนี้
  • ด้านสิ่งแวดล้อม จะคำนึงถึงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การปล่อยมลพิษและการควบคุมคุณภาพอากาศ การใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดของเสีย เป็นต้น
  • ด้านสังคม จะคำนึงถึงในแง่ความสัมพันธ์กับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เช่น การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงาน ความเสมอภาคในการจ้างงาน การให้สวัสดิการด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และที่อยู่อาศัย ฯลฯ
  • ด้านธรรมาภิบาล จะคำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยง สิทธิของผู้ถือหุ้น และมาตรฐานของผู้บริหาร เช่น จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใสทางบัญชี ความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัท การใช้สิทธิออกเสียง ค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงาน เป็นต้น
การนำปัจจัยด้าน ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมีส่วนช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และลดความเสี่ยงของการลงทุนได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีการปล่อยมลภาวะน้อย จะประสบปัญหาด้านกฏระเบียบน้อยกว่า และมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากชุมชนน้อยกว่า ดังนั้น โอกาสที่ราคาหุ้นจะผันผวนน้อยกว่า  ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ปล่อยมลภาวะสูง อาจถูกทางการใช้กฏเกณฑ์ต่างๆเข้ามาควบคุม ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างเต็มที่ รวมถึงอาจจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถลดการปล่อยมลภาวะลงให้เป็นไปตามเกณฑ์  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ การที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ในขณะที่บริษัทผลิตไฟฟ้าในจีนหลายแห่งยังคงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้บริษัทผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องหยุดการผลิตเป็นช่วงๆเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เป็นผลให้ภาคการผลิตของจีนหยุดชะงัก นอกจากนี้ ปัญหาด้านแรงงานในจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของจีน 

เพื่อความเป็นมาตรฐานว่าหุ้นตัวใดจัดเป็นหุ้น ESG ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำตลาดข้อมูลดัชนี SETTHSI ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่มีการใช้นโยบาย ESG ในการดำเนินธุรกิจ ในส่วนของต่างประเทศก็มีหลายหน่วยงานที่จัดทำดัชนีด้าน ESG เช่น MSCI World ESG Leaders Index, MSCI Global Low Carbon Indexes, MSCI Climate Change Indexes, Bloomberg Barclays ESG Fixed Income Indexes ฯลฯ

ในแง่ของผลตอบแทนการลงทุน กองทุน ESG ในหลายประเทศให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหลายบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลกได้ออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ในขณะที่บริษัทจัดอันดับหลายแห่งมีการให้คะแนนด้าน ESG แก่กองทุนต่างๆ เช่น Morningstar Sustainability rating, MSCI ESG fund ratings  สำหรับบริษัทจัดการกองทุนในไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการออกกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในต่างประเทศมากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ดี จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงแรง และกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มหุ้น ESG ได้รับผลกระทบเช่นกัน  เนื่องจากหุ้น ESG ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี เช่น หุ้นในกลุ่มพลังงานทางเลือก เป็นต้น แม้ว่าหุ้นกลุ่ม ESG จะเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์กับการลงทุนยั่งยืน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหุ้นยั่งยืนในแง่ของการให้ผลตอบแทนที่ดี หรือบริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีตลอดไป เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอีกหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความผันผวนของตลาด การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับลงแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้เช่นกัน 

สำหรับการลงทุนของ บลจ.กรุงศรี นั้น การพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุนในทุกกองทุนที่บริษัทบริหารจัดการแบบเชิงรุก (Active Management) ขณะที่กองทุนหุ้นต่างประเทศเองก็มีการลงทุนในหุ้น ESG ด้วยเช่นกัน ได้แก่ กองทุน KFESG เน้นลงทุนใน 3 ธีมการลงทุนหลักที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ได้แก่ สภาวะอากาศ สุขภาพ และการเสริมสร้างบทบาทและความเท่าเทียมในสังคม  และกองทุน KFCLIMA ที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม

ข้อมูลกองทุน คลิก: KFCLIMA-A  | KFESG-A

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว