ดอกเบี้ยติดลบ ไม่น่าลงทุนจริงหรือ


โดย ศิริพร  สินาเจริญ
CFA  กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี


เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายท่านเคยมีคำถามว่า ทำไมกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศไทยถึงได้มีการลงทุนในภูมิภาคที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์เช่น ยุโรป   รวมถึงคำถามที่ว่าทำไมประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำอย่างประเทศในแถบยุโรปตะวันตกหรือประเทศญี่ปุ่นถึงยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและยังมีการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์อยู่อีก

การที่ผู้ลงทุนนำเงินไปฝากกับธนาคารในต่างประเทศย่อมคาดหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ย และ ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อครบกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย  จึงทำการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า โดยการแลกเงินจากสกุลเงินบาทไปเป็นเงินสกุลปลายทาง และทำสัญญารับเงินสกุลปลายทางกลับมาเป็นสกุลเงินบาทในวันครบอายุ  และในบางกรณียังสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากดอกเบี้ยได้เมื่อมีการลงทุนจนครบอายุ

เมื่อได้ทำการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าบนสกุลเงินที่มีต้นทุนการกู้ยืมเงินต่ำกว่า เราก็จะได้เงินบาทต่อหน่วยสกุลเงินนั้นในอนาคตสูงกว่าเงินบาทต่อหน่วยในปัจจุบัน เช่น ปัจจุบัน 1 ยูโร แลกได้ประมาณ 37.18 บาท หากทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในอีก 1 ปี 1 ยูโรจะแลกได้ 37.85 บาท ได้เงินบาทเพิ่มขึ้นคิดเป็นต่อปีประมาณ 1.80% นั้นเท่ากับว่า หากเรานำเงินบาทไปแลก 100 ยูโร และ “ทำสัญญาขายเงินยูโรล่วงหน้า” พอครบกำหนดเราจะสามารถนำเงินยูโรไปแลกเป็นเงินบาทต่อหน่วยได้มากกว่าเดิม เมื่อรวมกับผลตอบแทนจากการฝากเงินสกุลยูโร ซึ่งหากฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ในยุโรปอาจให้ผลตอบแทนติดลบ 0.10% ต่อปี ทำให้เมื่อครบอายุเงินฝาก 1 ปี เราจะได้เงินต้นยูโรคืนมาพร้อมดอกเบี้ยเพียง 99.90 ยูโร เมื่อรวมผลจากการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 1.70% ซึ่งคำนวณจาก (37.85 x 99.90) – (37.18 x 100) ทั้งหมดหารด้วย 37.18 x 100 จะเห็นว่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ -0.10% มาก  ในเมื่อการฝากเงินทำให้เงินต้นลดลง ทำไมเราไม่ถือเงินยูโรเฉยๆ สำหรับกองทุนวิธีถือเงินดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากเงินปริมาณมากต้องถูกนำไปลงทุนหรือดูแลโดยผู้ดูแลผลประโยชน์และบัญชีส่วนใหญ่ของธนาคารที่รับฝากเงิน ยูโรนั้น มีธนาคารกลางของยุโรปเป็นผู้ดูแลอยู่ ทำให้เป็นไปได้สูงที่จะคิดดอกเบี้ยติดลบเช่นเดียวกับธนาคารในยุโรป       ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารเฉลี่ย (Euro LIBOR) อยู่ที่ประมาณ -0.20%

เหตุที่เมื่อปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าบนสกุลเงินที่มีต้นทุนการกู้ยืมเงิน “ต่ำกว่า” บ้านเราแล้ว เราจะได้เงินบาทต่อหน่วยสกุลเงินนั้นในอนาคตตามสัญญา “สูงกว่า” เงินบาทต่อหน่วยสกุลเงินดังกล่าว ณ ปัจจุบัน เกิดจากความจริงที่ว่าโลกเรามีเทรดเดอร์หรือนักค้าค่าเงินที่สามารถทำกำไรบนความเสี่ยงที่ต่ำมาก หากราคาไม่เป็นไปดังที่กล่าวผ่านธุรกรรมกู้ยืมเงินกับโบรกเกอร์ค้าเงินระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศ ในทางกลับกันหากเราปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากับค่าเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าเรา เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เราจะได้เงินบาทต่อหน่วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอนาคตต่ำกว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน หมายความว่า จะมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน หากเราต้องการล็อคผลตอบแทนในรูปดอลลาร์สหรัฐในอนาคตให้เป็นเงินบาท

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำในบางประเทศใช่ว่าจะแย่เสมอไป หรืออัตราดอกเบี้ยที่สูงในต่างประเทศก็ไม่ได้หมายความว่าจะน่าสนใจลงทุนเสมอไป  สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้มาก การเลือกลงทุนในเงินฝากต่างประเทศจึงต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนหรือกำไรจากการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

การนำเงินไปฝากกับธนาคารในต่างประเทศนั้น ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่สถาบัน เนื่องจากมีการกำหนดขั้นต่ำของการฝากเงินในระดับหลายสิบล้านบาท  การเปิดบัญชีมีค่าใช้จ่าย และใช้เวลานานในการยืนยันเอกสาร และยังมีค่ารักษาบัญชีซึ่งในกรณีผู้ลงทุนสถาบันอาจมีอำนาจของดเว้นการจ่ายได้ รวมทั้ง ต้องมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินกับธนาคารพาณิชย์เพื่อล็อคระดับผลตอบแทนในอนาคต และที่สำคัญ ฐานะทางการเงินของธนาคาร   ในต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยที่เสนออาจเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมกับการลงทุนได้ การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้  นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ติดตามคุณภาพของตราสารที่ลงทุน การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นจึงเหมาะสมกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก หรือเหมาะสมสำหรับการลงทุนเพื่อรักษาเงินต้นในยามที่ตลาดตราสารทุนมีความผันผวนสูง

 
 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว