สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
30/11/2566

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสาน เนื่องจากการส่งสัญญาณที่ไม่สอดคล้องกันของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ตลาดไม่มั่นใจเกี่ยวกับความยาวนานในการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
  • เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/66 ขยายตัว 5.2% ต่อปี สูงกว่าในการประเมินเบื้องต้นที่ 4.9% และเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 หลังจากขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 2/66 โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของรัฐบาล
  • เจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับตลาด โดยนายโธมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่า เขาไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% หรือไม่ และเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น
  • การแสดงความเห็นของนายบาร์กิน สวนทางกับที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดซึ่งกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในขณะนี้อยู่ในระดับที่เข้มงวดมากเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นอกจากนี้ นายวอลเลอร์ยังส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้
  • ทิม คริสคีย์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Ingalls & Snyder กล่าวว่า "การส่งสัญญาณที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดอ่อนแรงลงนั้น มาจากการที่นักลงทุนขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนนี้"
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากที่เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อลดลงเกินคาดในเดือน พ.ย. และบรรยากาศการซื้อขายยังได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นอิตาลีที่พุ่งขึ้นใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยุโรปลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ 2.4% ด้านตลาดหุ้นอิตาลีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. และปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจาก 2 สัปดาห์ที่มูดี้ส์ปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีเป็นมีเสถียรภาพ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ 93.8 ในเดือน พ.ย. จาก 93.5 ในเดือน ต.ค.  ทั้งนี้ ดัชนีบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจและผู้บริโภคยังคงมีมุมมองเชิงลบ โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับสูงและเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ หลังจากเหม่ยถวน (Meituan) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิลิเวอรีอาหารอันดับหนึ่งของจีนปรับลดแนวโน้มผลประกอบการ ซึ่งส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคจีน
  • ตลาดหุ้นไทยวานนี้ซื้อขายในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน ปิดตลาดที่ใกล้จุดต่ำสุดของวัน จากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่จากปัจจัยเฉพาะตัว รวมถึงมีแรงกดดันจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีหน้า ในขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคปิดปรับตัวลดลงเช่นกัน
  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยคณะกรรมการมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.4% ในปี 2566 และโต 3.2% ในปี 2567 โดยหากรวมผลของมาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาล คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 3.8% ลดลงจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4.4% 

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

จากการที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ หากมองไปด้านปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง  ยังคงสนับสนุนให้ลงทุนในหุ้นสหรัฐ ด้าน ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยแต่ตลาดหุ้นไทยกลับปรับตัวลดลง หากมองในแง่ระดับราคาถือว่ามีความน่าสนใจ แนะนำลงทุนโดยเฉพาะผู้ต้องการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,430.42 จุด เพิ่มขึ้น 13.44 จุด หรือ +0.04%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,550.58 จุด ลดลง 4.31 จุด หรือ -0.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,258.49 จุด ลดลง 23.27 จุด หรือ -0.16%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 459.10 จุด เพิ่มขึ้น 2.06 จุด หรือ +0.45%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,021.69 จุด ลดลง 16.87 จุด หรือ -0.56%
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 6.90 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 2,067.10 ดอลลาร์/ออนซ์
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 1.45 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 77.86 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,387.69 ลบ 13.73 จุด (-0.98%) Trading Volume: 51,497.61 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายปานกลาง โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (+0.38%) ตามด้วยกลุ่มพาณิชย์ (-3.28%) และกลุ่มขนส่ง (-2.07%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,327.55 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-7 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1-3 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 3-6 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-7 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 2-8 bps    
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 4,957.77 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6,169.21 ล้านบาท 
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน 
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน