สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
28/12/2566

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดบวก ในระหว่างวันเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบ ก่อนที่จะปิดตลาดดีดตัวขึ้น โดยตลาดหุ้นนิวยอร์กทำสถิติปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 8 สัปดาห์ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ออกมาต่ำกว่าคาดในเดือน พ.ย.
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.9% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. 2567
  • นายโรเบิร์ต แคปแลน อดีตประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวในรายการ Squawk Box ของสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) ว่า เขาคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า เนื่องจากเฟดต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และเฟดต้องการหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหากเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
  • ก่อนเข้าสู่ปี 2566 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปีนี้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เกิดขึ้น และในช่วงใกล้สิ้นปี 2566 บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีสิทธิ์ถดถอยในปีหน้า อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนยังมีมุมมองเชิงบวกว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในปี 2567 โดยแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง (soft landing) แทนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงขาลงก็ตาม
  • การสำรวจของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NABE) ในเดือน ธ.ค. พบว่า นักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 3 ใน 4 หรือ 76% คิดว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคือ 50% หรือน้อยกว่านั้น ส่วนบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถอดถอยนั้น พบว่า 40% เชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจะเริ่มต้นในไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะที่ 34% คิดว่าอาจเริ่มในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค. ปีหน้า โดยปริมาณการซื้อขายในตลาดคาดว่าจะเบาบางหลังวันหยุดคริสต์มาสและเหลือวันทำการไม่กี่วันในปีนี้ ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวขึ้น 7 สัปดาห์ติดต่อกัน และบวกขึ้นเกือบ 13% แล้วในปีนี้ โดยหุ้นกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากที่สุด
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดบวก นำโดยหุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยน หลังการเปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้นักลงทุนคาดว่า BOJ มีแนวโน้มจะคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อไป
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานวานนี้ (27 ธ.ค.) ว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนพุ่งขึ้น 29.5% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากการสำรวจบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อปีจากธุรกิจหลักอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ประมาณ 2.83 ล้านดอลลาร์) ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จีนมีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5% ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมการฟื้นตัวหลังโควิด-19
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทั้งในแดนบวกและลบ ปิดตลาดปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากแรงขายทำกำไรหุ้น DELTA ในขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคปิดปรับตัวสูงขึ้นจากความคาดหวังว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

สัปดาห์สุดท้ายของปี คาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังมีโอกาสปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดได้ปัจจัยหนุนจากเฟดส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า ประกอบกับตลาดเชื่อว่าจะเกิดปรากฎการณ์ ซานต้า แรลลี่ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี แนะนำลงทุนอย่างระมัดระวังโดยพิจารณาลงทุนตามความเสี่ยงที่สามารถรับได้

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,656.52 จุด เพิ่มขึ้น 111.19 จุด หรือ +0.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,781.58 จุด เพิ่มขึ้น 6.83 จุด หรือ +0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,099.18 จุด เพิ่มขึ้น 24.60 จุด หรือ +0.16%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 478.62 จุด เพิ่มขึ้น 1.02 จุด หรือ +0.21%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดที่ 33,681.24 จุด พุ่งขึ้น 375.39 จุด หรือ +1.13%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,914.61 จุด เพิ่มขึ้น 15.74 จุด หรือ +0.54%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. ลดลง 1.46 ดอลลาร์ หรือ 1.93% ปิดที่ 74.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 23.30 ดอลลาร์ หรือ 1.13% ปิดที่ 2,093.10 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,410.43 ลบ 3.02 จุด (-0.21%) Trading Volume: 39,285.68 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (-0.28%) ตามด้วยกลุ่มธนาคาร (+0.01%) กลุ่มไอซีที (+0.21%) และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (-2.92%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 791.54 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1 bp แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดไม่เปลี่ยนแปลง
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1 bp
      • IRS SWAP ปิดแกว่งตัว 1 bp  
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 10,964.56 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,125.75 ล้านบาท 
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน