สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
24/01/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสาน โดยตลาดถูกกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดในแดนบวก และดัชนี S&P500 ปิดทำนิวไฮติดต่อกันวันที่ 3 ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในสัปดาห์นี้
  • หุ้น 3M ดิ่งลง 11% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรในไตรมาส 1/2567 และกำไรตลอดปีงบการเงิน 2567 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
  • หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ร่วงลง 1.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรในปีงบการเงิน 2567 ที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้ว่ากำไรและรายได้ในไตรมาส 4/2566 ของบริษัทจะออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ก็ตาม
  • นักวิเคราะห์ที่ได้รับการสำรวจโดย LSEG (London Stock Exchange Group) คาดการณ์ว่า รายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 จะเพิ่มขึ้นเพียง 4.6% ในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีการขยายตัว 7.5%
  • อาร์ท โฮแกน นักวิเคราะห์จากบริษัท B. Riley Wealth กล่าวว่า นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยี 7 แห่งที่มีมาร์เก็ตแคปสูง หรือ "Magnificent Seven" ซึ่งได้แก่ไมโครซอฟท์ แอปเปิ้ล อัลฟาเบท อะเมซอน เทสลา เมตา แพลตฟอร์มส์ และอินวิเดีย เนื่องจากที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทกลุ่มนี้เป็นแรงขับเคลื่อนตลาด โดยบริษัททั้ง 7 แห่งจะรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ (25 ม.ค.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (26 ม.ค.) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30 - 31 ม.ค.
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยตลาดถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนลดลง 1.0 จุดในเดือน ม.ค. จากเดือน ธ.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของ ECB ซึ่งคาดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ย และบรรดาเทรดเดอร์คาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.30% ในปีนี้ และมีโอกาสเกือบ 97% ที่จะปรับลดครั้งแรกในเดือน มิ.ย.
  • ข้อมูลจาก LSEG บ่งชี้ว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/2566 ของบริษัทในดัชนี STOXX 600 อาจจะลดลง 8.8% จากไตรมาส 4/2565 ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าอาจลดลง 7.1%
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ โดยนักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวานนี้ ซึ่งรวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ใกล้ 0% โดยคณะกรรมการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดสำหรับปีงบประมาณ 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 2.8% และจะชะลอลงสู่ 1.8% ในปีงบประมาณ 2568    
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก โดยตลาดดีดตัวขึ้น หลังสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของจีนกำลังประเมินการใช้มาตรการมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (2.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อฟื้นฟูตลาดหุ้น โดยเม็ดเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากบัญชีในต่างประเทศของบริษัทรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนสร้างเสถียรภาพที่มีเป้าหมายเพื่อเข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นจีนผ่านทางโครงการ Hong Kong Exchange Link
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบ โดยช่วงเช้าแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทั้งในแดนบวกและลบ ในขณะที่ช่วงบ่ายแกว่งตัวลงซื้อขายในแดนลบ ปิดปรับตัวลดลง หลังมีกระแสข่าวว่าจีดีพีของไทยในปี 2566 โตต่ำกว่าที่คาดมาก ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดปรับตัวสูงขึ้น หลังตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลาย ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 4.1% อีกครั้ง สะท้อนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับถ้าสัปดาห์นี้ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2566 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ออกมาดีกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดยังไม่พิจารณาปรับลดดอกเบี้ย แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกในจังหวะที่อัตราผลตอบแทน (bond yield) ปรับสูงขึ้น เพื่อคาดหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ย และส่วนต่างราคา (capital gain) หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,905.45 จุด ลดลง 96.36 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,864.60 จุด เพิ่มขึ้น 14.17 จุด หรือ +0.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,425.94 จุด เพิ่มขึ้น 65.66 จุด หรือ +0.43%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 471.53 จุด ลดลง 1.33 จุด หรือ -0.28%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 36,517.57 จุด ลดลง 29.38 จุด หรือ -0.08%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,770.98 จุด เพิ่มขึ้น 14.64 จุด หรือ +0.53%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ลดลง 39 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 74.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 3.60 ดอลลาร์ หรือ 0.18% ปิดที่ 2,025.80 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,356.54 ลบ 13.38จุด (-0.98%) Trading Volume: 48,669.32 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายปานกลาง โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคาร (-0.11%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (-0.73%) และกลุ่มพาณิชย์ (-1.48%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,032.67 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-2 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • IRS SWAP ปิดแกว่งตัว 1 bp   
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 55,440.75 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,894.65 ล้านบาท 
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน