สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
23/04/2567

ปัจจัยสำคัญ

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดบวก ได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นหลังจากตลาดดิ่งลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา นำโดยหุ้นอินวิเดีย ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ ดีดตัวขึ้น 4.4% โดยราคาหุ้นฟื้นตัวหลังจากดิ่งลงเกือบ 14% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่หุ้นอัลฟาเบท ปรับตัวขึ้น 1.4% หุ้นอะเมซอน พุ่งขึ้น 1.5% หุ้นแอปเปิ้ล บวก 0.5%
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.1% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. และคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 - 5.50% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00 - 5.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. สาเหตุที่นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของเฟดเป็นเดือน ก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน มิ.ย. เนื่องจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
  • ข้อมูลจาก LSEG (London Stock Exchange Group) ระบุว่า นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นเพียง 0.41% ในปีนี้ ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยโดยรวม 1.50% ในปีนี้
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ (26 เม.ย.) ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ก็คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี เช่นกัน
  • นักลงทุนรอติดตามรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูงในกลุ่ม Magnificent Seven ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงเทสลา เมตาแพลตฟอร์มส์ อัลฟาเบท และไมโครซอฟท์ เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยดัชนี STOXX 600 ดีดตัวขึ้น ได้แรงหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดที่ผ่อนคลายลงในตะวันออกกลาง หลังจากร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกกดดันจากความวิตกด้านภูมิรัฐศาสตร์และความวิตกที่ว่าเฟดจะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • นักลงทุนมุ่งความสนใจในสัปดาห์นี้ไปที่การเปิดเผยผลประกอบการจากบรรดาธนาคารในยุโรป เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยังคงหนุนผลกำไรของกลุ่มธนาคารหรือไม่ และการทะยานขึ้นของราคาหุ้นที่ดำเนินมานานนับปีจะสิ้นสุดลงหรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลจาก LSEG (London Stock Exchange Group)  บ่งชี้ว่า ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในดัชนี STOXX 600 นั้นคาดว่าจะลดลง 12.1% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นรายปี
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดบวก โดยนักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากดัชนีนิกเกอิร่วงหนักมากกว่า 1,000 จุดเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนคลายวิตกเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หลังมีรายงานว่าอิหร่านไม่มีแผนที่จะตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิสราเอลในทันที อย่างไรก็ตาม ดัชนีนิกเกอิปรับตัวขึ้นแบบจำกัด เนื่องจากหุ้นกลุ่มชิปปรับตัวลงตามแรงเทขายของหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าต้นทุนการกู้ยืมในสหรัฐฯ จะยังคงสูงต่อไป
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีน แม้ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ที่ 3.45% และประเภท 5 ปี ที่ 3.95% ตามคาด เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) หลังจากที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ตลาดหุ้นไทยปิดบวก โดยซื้อขายในแดนบวกตลอดทั้งวัน ปิดปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะไม่ขยายความรุนแรง

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ระยะสั้นคาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสฟื้นตัว หลังจากที่นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ประกอบกับหากผลกำไรบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าคาด จะหนุนให้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นอีกครั้งดังนั้นควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน โดยแบ่งเงินลงทุนตามหลัก Money Management ที่สามารถรับได้ ขณะที่ข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าเป้าหมาย และโอกาสที่น้อยลงในการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดเช่นเดิม

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,239.98 จุด เพิ่มขึ้น 253.58 จุด หรือ +0.67%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,010.60 จุด เพิ่มขึ้น 43.37 จุด หรือ +0.87% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,451.31 จุด เพิ่มขึ้น 169.30 จุด หรือ +1.11%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 502.31 จุด เพิ่มขึ้น 3.02 จุด หรือ +0.60%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 37,438.61 จุด พุ่งขึ้น 370.26 จุด หรือ +1.00%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,044.60 จุด ลดลง 20.67 จุด หรือ -0.67%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 29 เซนต์ หรือ 0.35% ปิดที่ 82.85 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 67.40 ดอลลาร์ หรือ 2.79% ปิดที่ $2,346.40 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,349.52 บวก 17.44 จุด (+1.31%) Trading Volume: 43,139.29 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคาร (+1.21%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (+1.10%) กลุ่มไอซีที (+0.96%) และกลุ่มพาณิชย์ (+1.81%)  นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 372.42 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1-2 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1-2 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 1 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 1-2 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 2-4 bps    
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 32,512.74 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 208.07 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน