สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
14/05/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสาน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในเดือน เม.ย. ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.0% ที่คาดการณ์ในเดือน มี.ค. ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะเวลา 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 2.8% แต่ระยะเวลา 3 ปี ลดลง 0.1% สู่ระดับ 2.8%
  • แอนโทนี ซากลิมบีน หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดจากบริษัท Ameriprise กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอยลงและการที่ผู้บริโภคมองว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นนั้น ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สหรัฐฯ จะเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้
  • หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มการเงินปรับตัวลง 0.45% และ 0.41% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น 0.48% และดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้น 0.29%
  • บริษัทจำนวน 92% ในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 แล้ว โดยบริษัทเกือบ 80% จากจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. และ ธ.ค.
  • นักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้ (14 พ.ค.) เวลา 21.00 น. ตามเวลาไทย เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ รวมถึงติดตามการเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย โดยนักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ (14 พ.ค.) และวันพุธ (15 พ.ค.) ซึ่งจะบ่งชี้แนวโน้มเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด  รวมทั้งรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งมีการคาดกันว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน มิ.ย.
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่บริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ของญี่ปุ่นจะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ประกอบกับบริษัทแบล็กร็อก (BlackRock) เตือนว่า การอ่อนค่าของเงินเยนอาจจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพากันหลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเงินเยนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงสู่ระดับ 170 เยนต่อดอลลาร์ หากเฟดไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบเล็กน้อย ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา หลังจากทางการจีนเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน เม.ย. โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% แต่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 2.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.3%
  • นักลงทุนรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนในวันศุกร์นี้ (17 พ.ค.) ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือน เม.ย. การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือน เม.ย. และอัตราว่างงานเดือนเม.ย.
  • ตลาดหุ้นไทยปิดบวก โดยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทั้งในแดนบวกและลบ ปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคปิดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันจากหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ความคาดหวังต่อผลประกอบการ ความคาดหวังต่อมาตรการภาครัฐ เป็นต้น

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

หลังทราบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่รายงานแล้ว และมีสัดส่วนถึง 80% มีกำไรออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับสัปดาห์นี้ตลาดมุ่งความสนใจไปที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อประเมินสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ หากผลลัพท์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ตลาดคาดการณ์ จะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง แนะนำทยอยสะสมเมื่อราคาย่อตัว

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,431.51 จุด ลดลง 81.33 จุด หรือ -0.21%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,221.42 จุด ลดลง 1.26 จุด หรือ -0.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,388.24 จุด เพิ่มขึ้น 47.37 จุด หรือ +0.29%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 520.86 จุด เพิ่มขึ้น 0.10 จุด หรือ +0.02%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดที่ระดับ 38,179.46 จุด ลดลง 49.65 จุด หรือ -0.13%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,148.02 จุด ลดลง 6.53 จุด หรือ -0.21%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 79.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 32 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ 2,343.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,372.50 บวก 0.60 จุด (+0.04%) Trading Volume: 45,536.36 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายปานกลาง โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ (+0.79%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (-0.67%) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (+1.12%) และกลุ่มธนาคาร (-0.17%)  นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,150.45 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1 bp แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 1-2 bps
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 2,421.17 ล้านบาทนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,857.65 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน