สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
13/05/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสานในวันศุกร์ (10 พ.ค.) นักลงทุนให้น้ำหนักไปที่การประเมินความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตายอมรับว่า สัญญาณล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง แต่ระบุเสริมว่า กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่แน่นอน ด้านนางลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัสกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
  • หุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลดลงมากที่สุด
  • การเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรกใกล้สิ้นสุดลง โดยข้อมูลจาก LSEG (London Stock Exchange Group) บ่งชี้ว่า บริษัท 459 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว โดย 77% รายงานผลประกอบการที่สูงกว่าคาด
  • นักลงทุนรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันที่ 14 พ.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 15 พ.ค.
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (10 พ.ค.) เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในฤดูร้อน และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสวีเดนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 ประกอบกับรายงานการประชุมนโยบายการเงินในเดือน เม.ย. ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) บ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายสนับสนุนการเงินเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในเดือน มิ.ย. ขณะที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับ 2% ในปีหน้า
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดบวกในวันศุกร์ (10 พ.ค.) จากความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ทั้งนี้นิกเกอิปรับตัวขึ้นอย่างจำกัด ท่ามกลางความระมัดระวังเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่น หลังจากที่บริษัทใหญ่บางแห่งได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการผลประกอบการสำหรับปีงบการเงิน 2567 ที่ไม่สูงมาก
  • การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน มี.ค. ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าอาจลดลง 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (10 พ.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากมีรายงานว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศขึ้นบัญชีดำหน่วยงานหลายแห่งของจีน โดยหน่วยงานที่ถูกขึ้นบัญชีดำ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจกับบริษัทในสหรัฐฯ และต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก่อนจึงจะสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีจากบริษัทของสหรัฐฯ ได้ และมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่อีกด้วย
  • ตลาดหุ้นไทยปิดบวกในวันศุกร์ (10 พ.ค.) แกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทั้งในแดนบวกและลบ ปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายเบาบาง ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟด

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

สัปดาห์นี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม คือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะรายงานออกมาในวันที่ 14 และ 15 พ.ค. ตามลำดับ ทั้งนี้ หากออกมาในทิศทางที่ชะลอตัวลง คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดยังให้ความสำคัญในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเช่นเดิม โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก แนะนำทยอยสะสมเมื่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อยู่เหนือระดับ 4.5% และมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งจะได้ประโยชน์หากดอกเบี้ยปรับลดลง แนะนำทยอยสะสมเมื่อราคาย่อตัว

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,512.84 จุด เพิ่มขึ้น 125.08 จุด หรือ +0.32%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,222.68 จุด เพิ่มขึ้น 8.60 จุด หรือ +0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,340.87 จุด ลดลง 5.40 จุด หรือ -0.03%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 520.76 จุด เพิ่มขึ้น 3.99 จุด หรือ +0.77%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 38,229.11 จุด เพิ่มขึ้น 155.13 จุด หรือ +0.41%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,154.55 จุด เพิ่มขึ้น 0.23 จุด หรือ +0.01%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 78.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 34.70 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,375 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,371.90 บวก 2.61 จุด (+0.19%) Trading Volume: 36,380.95 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ (-0.86%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (-0.02%) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (+0.79%) และกลุ่มไอซีที (+0.34%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 615.98 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-2 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 2-6 bps
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 7,614.63 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 140.84 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน