สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
07/12/2566

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดลบ โดยตลาดถูกกดดันจากมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจได้รับผลกระทบจากตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลง แม้ปัจจัยดังกล่าวอาจจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้าก็ตาม
  • ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 103,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 128,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 106,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 117,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง 14,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ตัวเลขค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564
  • ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียวสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 617,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.733 ล้านตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.300 ล้านตำแหน่ง
  • บิล เมิร์ซ นักวิเคราะห์จากบริษัท U.S. Bank Wealth Management กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนและข้อมูลแรงงานที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ถือเป็นการตอกย้ำว่า ภารกิจการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคือการทำให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานชะลอตัวลง แต่ขณะนี้นักลงทุนเริ่มวิตกกังวลว่าหากแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลานานเกินไป สหรัฐก็อาจจะสูญเสียตำแหน่งงานเป็นจำนวนมาก
  • สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์พุ่งขึ้น 14% ในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 0.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว และร่วงลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 726,200 ดอลลาร์ ปรับตัวลงสู่ระดับ 7.17% จากระดับ 7.37% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในวันนี้ (7 ธ.ค.) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์  (8 ธ.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยตลาดหุ้นเยอรมนีปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่อีกครั้ง หลังการเปิดเผยข้อมูลยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมที่น่าผิดหวังของเยอรมนีลดลงเกินคาด 3.7% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือน ต.ค. ได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า หลังจากนางอิซาเบล ชนาเบล กรรมการ ECB แสดงความเห็นในเชิงผ่อนคลายนโยบายเมื่อวันอังคาร (5 ธ.ค.)
  • การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรปขึ้นด้วย ขณะที่ราคาพันธบัตรได้แรงหนุนจากข้อมูลการเปิดรับสมัครงานของสหรัฐที่ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค. ปีหน้า
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมของยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ 47.6 ในเดือน พ.ย. จาก 46.5 ในเดือน ต.ค. โดยที่ PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ 48.7 จาก 47.8  ทางด้านยอดค้าปลีกของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ต.ค. หลังจากลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.ย. ตามการลดลงของยอดขายอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร และยอดขายออนไลน์ปรับตัวสูงขึ้น
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ โดยบรรยากาศการซื้อขายในตลาดได้รับผลกระทบจากการที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนลงสู่เชิงลบจากมีเสถียรภาพเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. โดยระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะกลาง และความเสี่ยงจากวิกฤตครั้งใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสะท้อนถึงหลักฐานที่เพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลจีนจะต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินกับรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทของรัฐที่มีปัญหาด้านหนี้สิน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความแข็งแกร่งด้านการคลัง เศรษฐกิจ และสถาบันของจีน
  • ตลาดหุ้นไทยปิดบวกโดยปรับตัวลดลงในช่วงสั้นๆ หลังเปิดตลาด ก่อนที่จะพลิกกลับมาซื้อขายในแดนบวกตลอดช่วงที่เหลือของวัน ปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคมีทั้งปิดบวกและลบ
  • ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 67 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8 - 3.3% และมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ พร้อมคาดส่งออกในปี 67 จะขยายตัวที่ระดับ 2 - 3% จากปีนี้ที่ติดลบ 1-2% และมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 5 ล้านคน ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากสามารถดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยหนุน GDP ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1 - 1.5%

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในเดือน พ.ย. นับเป็นการปรับขึ้นน้อยที่สุดตั้งแต่ มิ.ย. 64 ส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายเรื่องเงินเฟ้อ และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า ทั้งนี้ต้องรอติดตามตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในวันนี้ (7 ธ.ค.) รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์ (8 ธ.ค.) หากออกมาต่ำกว่าคาด จะสามารถบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐได้ชัดเจนขึ้น แนะนำลงทุนเมื่อราคาปรับย่อลงมาทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นโลก เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดหย่อนภาษี แนะนำลงทุนตามความเสี่ยงที่สามารถรับได้

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,054.43 จุด ลดลง 70.13 จุด หรือ -0.19%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,549.34 จุด ลดลง 17.84 จุด หรือ -0.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,146.71 จุด ลดลง 83.20 จุด หรือ -0.58%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 470.06 จุด เพิ่มขึ้น 2.44 จุด หรือ +0.52%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,968.93 จุด ลดลง 3.36 จุด หรือ -0.11%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค. ลดลง 2.94 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 69.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 11.60 ดอลลาร์ หรือ 0.57% ปิดที่ 2,047.90 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,389.55 บวก 6.01 จุด (+0.43%) Trading Volume: 38,636.74 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (+0.08%) ตามด้วยกลุ่มธนาคาร (-0.23%) และกลุ่มพาณิชย์ (+1.26%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 454.20 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-9 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1-6 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 6-9 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 5-7 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 2-11 bps         
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 9,889.52 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,842.76 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
 
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน