แนวโน้มตลาดหุ้นช่วงสิ้นปี 2561


โดย ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมานี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมาก โดยบรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นปีสดใส จากความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักออกมาดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,838.96 จุด ในวันที่ 24 มกราคม 2561  หลังจากนั้น ดัชนียังคงแกว่งตัวอยู่ระหว่าง 1,751 – 1,837 จุดจนถึงต้นเดือนเมษายน ก่อนที่จะร่วงลงกว่า 40 จุดในวันที่ 4 เมษายน 2561 จากการที่สหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวน 1,300 รายการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุน เช่น ปัญหางบประมาณของอิตาลี ความไม่แน่นอนของกรณีที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียจากกรณีนักข่าวถูกฆาตกรรมในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในประเทศตุรกี การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี การร่วงของราคาน้ำมัน เป็นต้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ทำระดับต่ำสุดที่ 1,595.58 จุด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิรวม 281,075.77 ล้านบาท (ข้อมูลจาก (settrade.com) ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าแนวโน้มปริมาณการซื้อขายจะค่อยๆเบาบางลงดังเช่นที่เกิดขึ้นทุกๆปี เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มหยุดการซื้อขายก่อนเข้าช่วงเทศกาลคริสต์มาส ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ซื้อสุทธิสะสมรวม 188,294.42 ล้านบาท ยังคงมีแนวโน้มที่จะซื้อสุทธิต่อ เนื่องจากคาดว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าในกองทุน LTF และ RMF อย่างไรก็ดี เงินลงทุนที่เข้ามาซื้อ LTF ในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากมีเงินทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิมาตลอด และช่วยลดผลกระทบจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ 

จากการประเมินโดยใช้ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ พบว่าในช่วง 11 เดือนแรก มีเงินไหลเข้าลงทุนสุทธิใน LTF ราว 1.134 หมื่นล้านบาท เทียบกับเมื่อช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ที่มีเงินไหลออกสุทธิ ราว 1.129 หมื่นล้านบาท โดยหากประเมินว่าในปีนี้จะมีเงินไหลเข้าลงทุนใน LTF เท่ากับในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเงินไหลเข้าลงทุนสุทธิราว 1.413 หมื่นล้านบาท ก็หมายความว่าอาจมีเงินไหลเข้าลงทุนเพิ่มอีกเพียงประมาณ 3 พันล้านบาทในเดือนธันวาคมนี้

ในแง่ของข้อมูลทางสถิติ ในช่วง 10 ปีล่าสุด (2551 – 2561) ดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงเพียง 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2556 (-5.22%) 2557 (-6.00%) 2558 (-5.21%) ในขณะที่ปีอื่นๆดัชนีปรับตัวขึ้นระหว่าง 2.25% (ปี 2559) – 12.14% (ปี 2551 โดยเป็นการฟื้นตัวหลังจากร่วงลงแรงจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ) แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้สถิติบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวขึ้นในเดือนธันวาคม แต่เหตุการณ์ในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันว่าจะเกิดขึ้นแบบเดียวกันในอนาคต

สำหรับปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย นอกจากแนวโน้มของการไหลเข้าของเงินลงทุนใน LTF และ RMF แล้ว ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าติดตาม โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และตลาดได้ตอบรับไปพอสมควรแล้ว  ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ถึงแม้สหรัฐฯและจีนตกลงที่จะยังไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติม โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาแก้ไขปัญหา แต่การที่ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทหัวเหว่ยถูกจับกุมในแคนาดาจากข้อกล่าวหาว่าหัวเหว่ยส่งออกชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯไปยังอิหร่าน ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายคว่ำบาตร ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าปัญหาสงครามการค้าอาจมีอุปสรรคในการเจรจา และอาจเป็นปัจจัยรบกวนบรรยากาศการลงทุนในช่วงต่อไป  สำหรับความกังวลเกี่ยวกับ Brexit และปัญหางบประมาณของอิตาลี น่าจะไม่มีความคืบหน้ามากนักในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษเลื่อนการเปิดให้สมาชิกรัฐสภาลงมติในข้อตกลงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปออกไป

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวก ได้แก่ แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง ยอดจองรถในงานมหกรรมยานยนต์อยู่ในระดับสูง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มดีขึ้น และการปลดล็อคให้พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

จะเห็นได้ว่าหากพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยกลับปรับตัวลดลงจากปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ราคาปิดต่อกำไรสุทธิหรือค่าพีอีเรโชของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ  ดังนั้น ถึงแม้ในระยะสั้นยังมีปัจจัยที่กดดันตลาดอยู่ แต่ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยแล้ว ทิศทางตลาดหุ้นในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มที่ดี นักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนของตลาดได้สูง จึงอาจมองเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนครับ

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว