กรุงศรีจัดสัมมนา Global Stocks 2023: A Glimmer of Light After Storm



 
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ จัดสัมมนาการลงทุน หัวข้อ “Global Stocks 2023: A Glimmer of Light After Storm” พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) และ Ballie Gifford บริษัทจัดการกองทุนระดับโลก มาร่วมกันอัพเดทและแชร์มุมมองการลงทุนสำหรับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน แนวโน้มและทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสและปัจจัยเสียงในการลงทุน กลยุทธ์การคัดเลือกสินทรัพย์ของกองทุน ตลอดจนผลตอบแทนและความคาดหวังในอนาคต หลังจากที่ในไตรมาสแรกของปี ตลาดได้เผชิญความผันผวนจากหลายปัจจัย ทั้งวิกฤติเงินเฟ้อ นโยบายทางการเงิน การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รวมทั้งวิกฤติภาคธนาคารที่ล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติและความผันผวนของตลาด ก็ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุน โดยที่งานสัมมนา บลจ.กรุงศรี ได้นำเสนอสองกองทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนของ Baillie Gifford ที่คัดมาแล้วว่าน่าลงทุนในช่วงเวลานี้ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลโกรท (KFGG) และกองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอิควิตี้เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFHASIA) จากแนวโน้มที่ใกล้จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และมีโอกาสที่จะพลิกมาสร้างผลกำไรได้อย่างโดดเด่นเมื่อวิกฤติผ่านพ้น
 
คุณวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ทเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงภาพรวมของการลงทุนในขณะนี้ว่า ความผันผวนที่เกิดจากวิกฤติภาคธนาคาร เช่น ธนาคาร Silicon Valley (SVB) ของสหรัฐอเมริกา ธนาคาร Credit Suisse ของสวิตเซอแลนด์ รวมทั้งธนาคาร Deutsch Bank ของเยอรมนีนั้น คาดว่าจะมีผลกระทบในวงจำกัดเนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะภายในของธนาคารแต่ละแห่ง ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการธนาคารทั่วโลก และที่ผ่านมา ธนาคารแต่ละแห่งก็มีกลไกที่เข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว จึงน่าจะทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลไปได้ในไม่ช้า
สำหรับเรื่องภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตลาดผันผวนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าหนึ่งปีแล้วนั้น เชื่อว่าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันโลกลดลง ตอนนี้ตลาดจึงเพียงรอดูดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะส่งสัญญาณไปในทิศทางใด หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง คาดว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดสูงสุด และคาดว่าปีหน้าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งหาก FED มีการส่งสัญญาณหยุดการขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทันทีโดยเฉพาะหุ้นเติบโตที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นเติบโตได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตลาดได้ตอบรับปัจจัยบวกดังกล่าวไปบ้างแล้ว จะเห็นได้ว่า Nasdaq ที่เป็นดัชนีของหุ้นเติบโตนั้น มีอัตราการเติบโตมากกว่า S&P500 ถึง 9.55% (ที่มา:TradingView ข้อมูล ณ 20 มี.ค. 2566)
 
คุณวินกล่าวเสริมว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าลงทุนหุ้นเติบโตเนื่องจากหุ้นเทคโนโยลีที่ราคาเคยแพง ได้ลดลงมามากในช่วงสองปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันอยู่ในระดับราคาที่น่าสนใจ ทำให้เป็นโอกาสในการลงทุน นอกจากนี้ ข้อดีอีกอย่างของหุ้นเติบโตคือมีหนี้ไม่สูง และมีโอกาสสร้างผลกำไรและปรับตัวขึ้นไปได้อีกมากจากราคา ณ ปัจจุบัน
ที่มา: Guide to the Markets US 1Q 2023 โดย JPMorgan Asset Management ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2565
 
ด้านคุณ Stewart Hogg ผู้บริหารจาก Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KFGG กล่าวว่า หุ้นเติบโตนั้นปกติจะมีความผันผวนที่สูงมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เขามองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงระยะสั้น และช่วงที่ตลาดปรับฐานจนทำให้หุ้นราคาปรับลดลงมามากๆ จะเป็นโอกาสดีที่กองทุนจะเข้าไปลงทุน กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนนั้นคือการคัดเลือกหุ้นที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้สูง และจะลงทุนในระยะยาวไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป เนื่องจากค่าความผันผวนจะลดน้อยลงหากลงทุนในระยะที่ยาวนานพอ โดยกองทุนจะเลือกลงทุนเพียง 30 - 40 บริษัทที่คัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี สำหรับแนวคิดในการคัดเลือกหลักทรัพย์นั้น ผู้จัดการกองทุนจะมองหาหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่น่าสนใจ ซึ่งจะมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน โดยยกตัวอย่างหุ้นบริษัทที่เคยราคาร่วงหนักเกิน 50% ในปี 1999 รวม 3,000 บริษัท พบว่ามี 1 ใน 3 หรือ 1,000 บริษัทที่สามารถกลับมาสร้างกำไรได้ภายใน 5 ปี โดยดูจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี และหุ้นที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีการเติบโตของรายได้ในช่วง 5 ปี ไม่น้อยกว่า 30% การเติบโตของผลกำไรมากกว่า 20% และมีเงินสดอิสระไม่น้อยกว่า 35% จึงจะถือว่าเป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่สูง และมีโอกาสที่หุ้นนั้นจะปรับตัวได้สูง 
ที่มา: Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth Fund ณ มี.ค. 2566 

ตัวอย่างหุ้นที่กองทุนให้ความสนใจได้แก่ Nio หุ้นรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนซึ่งราคาลดลงมาแล้วมากกว่า 50% ในปี 2022 ซึ่งสวนทางกับยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเติบโตถึง 25% ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา และ Spotify ซึ่งราคาลดลงมามากกว่า 70% ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินสดอิสระติดต่อกันอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 โตรมาส จึงเป็นหุ้นที่กองทุนให้ความสนใจ (ที่มา: Baillie Gifford ณ 31 ธ.ค. 2565)
 
ด้านคุณ Jennifer Leong ผู้บริหารจาก Ballie Gifford Pacific Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KFHASIA กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอเชียได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ อย่างวิกฤติโควิดที่ทำให้ต้องปิดประเทศ รวมทั้งเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน แต่ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียเริ่มมีความน่าสนใจและมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อวิกฤติต่างๆผ่านพ้น คุณเจนนิเฟอร์อธิบายว่า บริษัทในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตในหลายรูปแบบ เช่น การเติบโตได้ยาวนานอย่างบริษัทประกัน Ping An ของจีน หรือ บริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ TSMC จากไต้หวัน หรือบางบริษัทก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เช่น บริษัทขายและส่งสินค้าออนไลน์ Meituan ของจีน หรือ Coupang จากเกาหลีใต้ และยังมีบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างเกินความคาดหมาย เช่น บริษัทซัมซุง ของเกาหลีใต้ ที่แม้จะเป็นบริษัทที่ใหญ่มากแล้วแต่ก็ยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก เป็นต้น 
ที่มา: Baillie Gifford & Co ณ มี.ค. 2566
 
ที่มา:  MSCI, Baillie Gifford & Co ณ 28 ก.พ. 2566 | ค่าที่แสดงอาจมีการปัดเศษ | พอร์ตการลงทุนที่แสดงไม่นับรวมเงินสด
 
ประเทศที่ Ballie Gifford Pacific Fund ให้ความสนใจและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนมากเป็นพิเศษในขณะนี้ได้แก่ เวียดนามซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญ ดึงดูดเงินลงทุนด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าที่อื่น จีนที่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง อินโดนีเซียซึ่งมีโอกาสเติบโตจากการเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่นิกเกิลมากกว่า 20% ของโลก สามารถใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และอินเดียซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศอีกมาก ทั้งนี้ Ballie Gifford Pacific Fund เป็นกองทุนที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปีในการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำหรับตลาดเอเชียอยู่ 75 ท่าน ช่วยกันคัดเลือกสินทรัพย์สำหรับลงทุน ปัจจุบันกองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่เลือกเฟ้นมาแล้วประมาณ 80 บริษัทและมีการกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม และจะเน้นการลงทุนในระยะยาว ที่ผ่านมา กองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้เหนือกว่าตลาด MSCI AC Asia (ex Japan) ไม่น้อยกว่า 5% ได้อย่างต่อเนื่อง
 
คุณเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนทางเลือก บลจ.กรุงศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หุ้นในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) นั้นมีโอกาสเติบโตได้สูงอย่างมีนัยยะสำคัญจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ในไต้หวัน รวมทั้งการเร่งสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ในอินเดีย นอกจากนี้ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นเอเชียยังมี P/E อยู่ในระดับต่ำ เพียง 12 เท่า ขณะที่เงินเฟ้อในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 2 - 3% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นทำให้เริ่มมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น 
ที่มา: Goldman Sachs Global Investment Research ณ 24 ก.พ. 2566
 
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นในปัจจุบันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ทิศทางของตลาดหุ้นและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ หากยังถูกกดดันด้วยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน และกรณีที่เงินดอลล่าร์เกิดแข็งค่า ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นเอเชีย  แต่บลจ.กรุงศรี เชื่อว่าค่าเงินดอลล่าร์มีโอกาสอ่อนตัวในระยะยาวจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียมีโอกาสกลับมาเติบโตสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ 
ที่มา: Bloomberg ณ 16 มี.ค. 2566
 
เช่นเดียวกันกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี บลจ.กรุงศรีคาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ด้วยค่าเฉลี่ยที่ 25% เนื่องจากคาดว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะถึงจุดฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังสามารถเติบโตจากตัวเลขผลการดำเนินงานและกำไรที่เติบโตด้วย เช่น สื่อโฆษณาดิจิทัล มีอัตราเติบโตสูงขึ้นจาก 60% ในปี 2021 เป็น 71% ในปี 2022 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเลขอีคอมเมิร์ซก็กลับมาเติบโตเป็นปกติ ตัวเลขการลงทุนในซอฟท์แวร์ก็เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระดับราคาของหุ้นลดต่ำลงจาก 40 เท่า ลงมาอยู่ที่ 23 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่น่าสนใจ (ที่มา: Credit Suisse Research, Refinitiv Datastream ณ 27 ก.พ. 2566)
คุณเกียรติศักดิ์กล่าวว่า จากสถาการณ์และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ณ ขณะนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักลงทุนจะทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสามารถลงทุนผ่านกองทุน KFHASIA หรือ ถ้าสนใจลงทุนในหุ้นเติบโต หรือกลุ่มเทคโนโลยีก็สามารถลงทุนผ่านกองทุน KFGG ของ บลจ.กรุงศรี ได้ ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ผ่านช่องทางออนไลน์บน @ccess Mobile ได้ตามวันเวลาทำการของกองทุน
 
ดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติม คลิก: KFHASIA-A | KFGG-A
 
คำเตือนและนโยบายการลงทุน
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • KFGG ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth Fund, Class B USD Acc (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV กองทุน โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
  • KFHASIA ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ Baillie Gifford Pacific Fund (Class B Acc) (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80% ของ NAV โดยกองทุนหลักจะลงทุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไม่ต่ำกว่า 90% ในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในทวีปเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) และออสตราเลเซีย
  • KFGG และ KFHASIA มีความเสี่ยงระดับ 6 - เสี่ยงสูง | ป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนกองทุนได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 0-2657-5757 
 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 






 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว