ตลาดฟื้นจริงหรือไม่?


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยรายงานการประชุมในเดือนพฤษภาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดเตรียมที่จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ในการประชุมหลายครั้งถัดไป แต่พร้อมที่จะผ่อนการใช้มาตรการคุมเข้มหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลง รวมถึงตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) ซึ่งเป็นดัชนีที่เฟดใช้อ้างอิงถึงเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาดูดีขึ้น เนื่องจากเฟดไม่ได้มีท่าทีใช้นโยบายการเงินที่แข็งกร้าว และการชะลอลงของเงินเฟ้ออาจส่งผลให้เฟดไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดและ core PCE อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาด พร้อมทั้งให้มุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการในอนาคต

การที่ตลาดโดยรวมปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนบางท่านอาจมีความหวังว่าตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะรอดูสัญญาณถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้
จากข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1948 ที่นำเสนอโดยนาย Keith Lerner ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนร่วมของ Truist Advisory Service พบว่า ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐปรับตัวลดลงเฉลี่ยราว 29% ในขณะที่ในปีนี้ซึ่งเศรษฐกิจยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย S&P500 ปรับตัวลงแตะจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยลดลงกว่า 18% จากจุดสูงสุดในวันแรกของปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวหลังการเผยรายงานการประชุมของเฟด สะท้อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงมามากแล้ว และความเสี่ยงขาลงอาจจะมีอยู่อย่างจำกัด

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่มาก ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและส่งผลให้ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานเลวร้ายลง ราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อขจัดอุปสงค์ส่วนเกินในสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง และแนวโน้มเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร  ดังนั้น ตลาดอาจกลับมากังวลเกี่ยวกับปัจจัยลบเหล่านี้ได้ตลอดเวลา บ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านบวกก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน ตลาดจึงคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไป

ถึงแม้ในภาพรวมตลาดการลงทุนยังดูมีความเสี่ยงอยู่มาก แต่โอกาสในการลงทุนก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว โดยตลาดที่น่าสนใจได้แก่ ตลาดหุ้นจีน และตลาดหุ้นไทย
จากการที่จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ และประกาศล็อคดาวน์เมืองสำคัญหลายแห่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก รัฐบาลจีนจึงประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการลดภาษี การเร่งอนุมัติโครงการลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ เป็นปกติที่ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เนื่องจากดัชนีย่อยในหมวดการจ้างงาน คำสั่งซื้อ การผลิต และภาคบริการ จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง  รวมถึงมีแนวโน้มที่ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี หลังสหรัฐส่งสัญญาณผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ  ดังนั้น บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนจึงมีปัจจัยบวกอยู่มากท่ามกลางราคาหุ้นที่ยังคงอยู่ในระดับไม่แพงเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน

สำหรับตลาดหุ้นไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจมากเช่นกัน โดยตลาดหุ้นไทยเป็นเพียงไม่กี่ตลาดที่ยังคงปิดในแดนบวกได้ตั้งแต่ต้นปีนี้ และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาให้ความสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังจากที่เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้  ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนราว 20% ของจีดีพีมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาดหลังรัฐบาลผ่อนคลายเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศ ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ธปท. ระบุว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าจะส่งผลให้บริษัทต่างๆมีผลประกอบการที่ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในภาพของเศรษฐกิจโลกจะยังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็ยังมีตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสวนทางกับตลาดส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นจีนจะมีปัจจัยบวกอยู่มาก แต่ความผันผวนในตลาดโลกอาจส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ตลาดในบางช่วง และอาจมีปัจจัยอื่นมากระทบตลาดในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจึงควรเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและควรติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว