ผลกระทบจากนโยบายเฟดกับกองทุนตราสารหนี้


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 
จากการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาสินโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับปัญหาการขาดแคลนอุปทานทั้งในด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และแรงงาน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไป ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะถึงแม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกออกมาติดลบ แต่ก็มีสาเหตุหลักมาจากการระบาดของโอมิครอน และตัวเลขขาดดุลการค้าและบริการสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการที่ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม ท่ามกลางการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง นักลงทุนจึงกังวลว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฟดอาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในบางการประชุมในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% สู่ 0.75 - 1.00% ตามคาด พร้อมทั้งประกาศเริ่มลดขนาดงบดุลในเดือนมิถุนายนนี้  โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดระบุว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งถัดไป และคณะกรรมการยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อย่างจริงจัง พร้อมทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงจากผลของฐานสูงในปีที่แล้ว
ผลการประชุมเฟดนี้บ่งชี้ว่า เฟดไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวมากเท่าที่ตลาดคาด เนื่องจากเฟดได้ส่งสัญญาณให้ตลาดลดความคาดหวังเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% และการปรับลดงบดุลเป็นเพียงการปล่อยให้ตราสารครบอายุโดยไม่ซื้อเพิ่ม และไม่มีการพูดถึงการขายตราสารที่เฟดถืออยู่ออกมา  อย่างไรก็ดี เฟดก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในอนาคต  โดยล่าสุดตลาดคาดว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนพฤศจิกายนหลังจากขึ้นดอกเบี้ย 0.50% อย่างต่อเนื่องในการประชุมก่อนหน้านั้น

ความคาดหวังต่อทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟดสะท้อนมาในตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นต่อ (ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง) ส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่ทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นลบในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการบันทึกราคาตลาดล่าสุด (mark to market) ทั้งนี้ ตลาดมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่คาดแล้ว เป็นการบ่งชี้ว่าตลาดตราสารหนี้น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอีกไม่นานนี้  อย่างไรก็ดี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแตะระดับเป้าหมายแล้ว ตลาดอาจปรับเพิ่มเป้าหมายต่อก็เป็นได้ จึงยังไม่มีสิ่งใดที่รับประกันว่าตลาดตราสารหนี้จะยุติการปรับตัวลดลง

สำหรับตัวเลขที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิดได้แก่ รายงานอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ 8.3% จาก 8.5% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว  แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อเดือนเมษายนจะอยู่ที่ 8.1%  นักลงทุนจึงกังวลว่าเงินเฟ้ออาจลดลงช้ากว่าที่คาด และเฟดอาจต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น

นอกจากการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐซึ่งอาจส่งผลต่อคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟดแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการเฟดก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากคณะกรรมการเฟดออกมาให้ความเห็นตอกย้ำไปในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด ก็มีโอกาสสูงที่ตลาดจะปรับทิศทางไปตามความเห็นของคณะกรรมการเฟด ดังวลีในตลาดที่มักจะถูกยกมาเตือนว่า Don’t fight the Fed

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเช่นกัน ถึงแม้ ธปท. ระบุว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้ของไทยส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้เช่นกัน

แม้ว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบในด้านของราคาตราสารปรับตัวลดลง แต่มีความแตกต่างจากช่วงที่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากในช่วงนั้นมีความเสี่ยงจากการที่ตราสารมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ตราสารหนี้บางตัวให้ผลตอบแทนเป็นศูนย์ ในขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันถึงแม้ราคาตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง แต่กองทุนยังจะได้รับผลตอบแทนจากการชำระหนี้ของตราสารหนี้เป็นปกติ เนื่องจากความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ และกองทุนส่วนใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นความเสี่ยงโดยรวมของกองทุนตราสารหนี้ไทยจึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเริ่มเกิดวิกฤตโควิด-19 มาก

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ในช่วงนี้อาจจะต้องย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนตลาดเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อรอให้ตลาดตราสารหนี้โดยรวมมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง จึงค่อยกลับมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าในระยะยาว

กองทุนแนะนำ คลิก: KFCASH-AKFSMART

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว