ตั้งรับ Bear Market Rally & Inverted Yield Curve


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด


ในช่วงนี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับราคาปิดเมื่อสิ้นปี 2564 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve) ของสหรัฐเกิด Inverted yield curve ในช่วงสั้นๆในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565 กล่าวคือ ในภาวะปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากความเสี่ยงในระยะยาวมีมากกว่าจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต  ดังนั้น ภาวะ Inverted yield curve ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างมากในอนาคต และส่งผลให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิด Inverted yield curve มักจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า โดยนักลงทุนจะดูจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี กับ 10 ปี

การเกิด inverted yield curve ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ท่ามกลางปัจจัยลบหลายปัจจัย ได้แก่ เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง ปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน สงครามในยูเครน และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการปรับขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกเป็น Bear market rally กล่าวคือ ตลาดหุ้นปรับขึ้นชั่วคราวในช่วงของตลาดขาลง (Bear market)

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการเกิด Inverted Yield Curve ไม่ได้ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง โดยยังมีปัจจัยอื่นๆที่ควรนำมาพิจารณาเพิ่มเติม และการเกิด Inverted Yield Curve ช่วงสั้นๆในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่เฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนมีโอกาสที่จะผิดเพี้ยนไปจากภาวะปกติได้ 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าภาวะตลาดหุ้นขาลงได้จบไปแล้ว ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นร่วงลงแรงเกินไป จึงฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มที่ดี และตลาดหุ้นได้ตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว อีกทั้งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีความคืบหน้ามากขึ้น  ดังนั้น การปรับขึ้นของตลาดหุ้นในขณะนี้จึงไม่ใช่การเกิด Bear market rally แต่เป็นการสะท้อนแนวโน้มที่ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า มุมมองของนักวิเคราะห์ในขณะนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก แล้วนักลงทุนควรจะเชื่อนักวิเคราะห์ที่มองในแง่บวกหรือแง่ลบ?

ความเสี่ยงที่สำคัญในขณะนี้คือการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน  ทั้งนี้ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มดีขึ้นหลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 และธนาคารกลางหลายประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลง โดยเฟดคาดว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 3 - 4 ครั้งในปีนี้  แต่หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน ส่งผลให้หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะน้ำมัน  ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานจึงมีแนวโน้มกลับมาแย่ลง และการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนคลี่คลาย และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียถูกยกเลิก ราคาน้ำมันน่าจะลดลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาในห่วงโซ่อุปทานน่าจะกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

เพราะฉะนั้น การที่นักวิเคราะห์มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก เกิดจากมุมมองต่อสถานการณ์ในยูเครนและแนวโน้มเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนมีมุมมองโน้มเอียงไปทางใด

ในด้านการลงทุน ตลาดตราสารหนี้ได้ตอบรับไปแล้วว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 9 ครั้งในปีนี้  ดังนั้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ตลาดตราสารหนี้น่าจะมีความผันผวนน้อยลง ในขณะที่หากสถานการณ์ต่างๆดีขึ้น ตลาดอาจจะกลับมาคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่มีการบริหารเชิงรุกและมีความยืดหยุ่นในการปรับอายุเฉลี่ยของพอร์ตการลงทุน 

ในส่วนของตราสารทุน กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ได้รับผลกระทบจากปัญหาในยูเครนและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงก็ตาม โดย ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 3.2% และโต 4.4% ในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น 4.9% ในปีนี้ และชะลอลงสู่ 1.7% ในปีหน้า  สำหรับกองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากที่ราคาร่วงลงมามาก เนื่องจากกลุ่มหุ้นเหล่านี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว

สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจชะลอการลงทุนไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน หรืออาจทยอยลงทุนเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูง เนื่องจากตลาดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
 
ข้อมูลกองทุน

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว