สัญญาณเศรษฐกิจหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจ


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด



ในบทความเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐไม่ได้อ่อนแออย่างที่หลายฝ่ายกังวล และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐในเดือนกันยายนที่รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม บ่งชี้ว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดมาก (ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง) และการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง เป็นการตอกย้ำว่าตลาดแรงงานสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และไม่มีสัญญาณอันตรายใดๆอย่างที่หลายฝ่ายกังวล โดยการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และถึงแม้ในอนาคตอาจมีการทบทวนตัวเลขการจ้างงานในเดือนกันยายนลง ก็ไม่น่าเป็นการปรับลดลงจนเป็นตัวเลขที่น่ากังวล
แนวโน้มตลาดแรงงานยังคงดีต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครเพิ่มขึ้น 8.04 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นจาก 7.673 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม และอยู่สูงกว่าสถิติสูงสุดในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดที่ 7.59 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานลดลงสู่ 4.1% ในเดือนกันยายน สะท้อนว่าอุปสงค์ในตลาดแรงงานอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

การที่ตลาดแรงงานเติบโตต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน รวมถึงรายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่เติบโตต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของจีดีพีสหรัฐ และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีกว่าที่คาด นอกจากนี้ การที่เฟดเริ่มปรับลดดอกเบี้ย จะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตน่าจะกลับมาขยายตัว ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะมีการจ้างงานเต็มที่ (full employment) ตามเป้าหมายของเฟด
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเติบโตสูงกว่าที่เฟดคาดว่าอาจโต 2.0% ในช่วงปี 2024 – 2027 ก่อนที่จะลดลงเหลือโต 1.8% ในระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นระดับการเติบโตที่ดี โดยในช่วงปี 2010 ถึงก่อนเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวระหว่าง 1.5% - 2.9% ดังนั้น การที่เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนี้ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งมีการเติบโตสูงกว่าปกติหลังเหตุการณ์โควิดสิ้นสุดลง จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล โดยอาจมองว่าเป็นการ soft landing เล็กน้อย หรืออาจมองว่าไม่ใช่ soft landing แต่เป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ หรือเป็นผลจากฐานสูงก็ได้

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐจะเริ่มทยอยรายงานผลประกอบการของไตรมาสสามที่ผ่านมา บางบริษัทเริ่มส่งสัญญาณว่าผลประกอบการจะออกมาดี โดยผลประกอบการและแนวโน้มในอนาคตจะเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐ รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะถัดไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนอาจต้องกลับมาให้ความสำคัญได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัวขึ้น จากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันหลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้ออาจปรับขึ้นไม่มาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และกลุ่มโอเปกพลัสระบุว่าสามารถที่จะผลิตน้ำมันชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่านได้ รวมถึงซาอุดิอาระเบียเตรียมยกเลิกการปรับลดปริมาณการผลิต และฤดูพายุที่มักจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐใกล้จะสิ้นสุดลง ดังนั้น อุปทานน้ำมันจึงน่าจะมีเพียงพอที่จะไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นมากเกินไป
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นสิ่งที่ควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปจะมีส่วนสำคัญในการบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะถัดไป รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก

จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มรายงานผลประกอบการออกมาดี และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นทิศทางขาลง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่น่าจะปรับตัวลดลงในรยะยาว อีกทั้งรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอาจมีนโยบายใหม่ๆที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนจึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะ Goldilocks ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่ไม่ร้อนแรงเกินไปจนสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ และก็ไม่ชะลอตัวจนถึงขั้นที่อาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หรืออาจพูดได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้เอื้ออำนวยต่อการเติบโต ท่ามกลางความเสี่ยงที่ลดลง

ตลาดหุ้นสหรัฐจึงยังมีความน่าสนใจ เพราะมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี โดยถึงแม้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องมาหลายปี แต่ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการเติบโตต่อไป อีกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐได้ปรับฐานไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ จากการย้ายการลงทุนจากหุ้นกลุ่มเทคโลยีไปยังกลุ่มหุ้นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก (ก่อนที่ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะยังคงตอกย้ำถึงการเติบโตที่ดี) รวมถึงการปรับตัวลงรุนแรงหลังตัวเลขการจ้างงานในช่วงก่อนหน้านี้ออกมาอ่อนแอ อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรรับความเสี่ยงของความผันผวนของตลาดหุ้นได้ และควรยอมรับการขาดทุนได้หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด รวมถึงต้องพิจารณาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง

แนะนำกองทุนหุ้นต่างประเทศ คลิก: KFUS-A | KFUSINDFX-A | KFGTECH-A | KFHTECH-A | KFGTECHRMF | KFUSSSF | KFUSRMF
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่







สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757 หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

คำเตือน

  • ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน 
  • KFHTECH-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
  • KFGTECH-A/ KFGTECHRMF KFUS-A/ KFUSSSF/ KFUSRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ส่วน KFUSINDFX-A ไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนตํ่ากว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • KFGTECH-A/ KFHTECH-A/ KFGTECHRMF มีความเสี่ยงกองทุนระดับ 7 - เสี่ยงสูง | กองทุนลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • KFUS-A/ KFUSINDFX-A/ KFUSSSF/KFUSRMF มีความเสี่ยงกองทุนระดับ 6 - เสี่ยงสูง

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว