จะซื้อกองทุน LTF ช่วงไหนและอย่างไรถึงจะดี?


 

ปี 2562 นี้ เรายังคงได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน LTF กันอยู่ ภายใต้เงื่อนไขเหมือนเดิมคือ ต้องถือการลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ดังนั้น อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป ลงทุนไว้เพื่ออนาคตพร้อมกับวางแผนภาษีด้วย LTF กันตั้งแต่ต้นปีดีกว่า ถึงตอนนี้อาจมีเสียงค้านในใจของหลายคนว่า ทำไมต้องต้นปี? รอปลายปีค่อยลงทุนก็ได้ กว่าจะยื่นภาษีตั้งเดือนมีนาคมของปีถัดไป พร้อมกับอาจมีเสียงสนับสนุนอีกว่า ปลายปีที่แล้วหุ้นลงอีกต่างหาก ซื้อปลายปีได้ราคา NAV ถูกว่าต้นปีอีก หรือหลายคนก็ใช้วิธีรอจังหวะหุ้นลงค่อยซื้อ จริงๆ แล้ววิธีเลือกช่วงเวลามีหลายแบบ หลายเหตุผลต่างกันไป เรามาลองเปรียบเทียบกันดูดีกว่า

 

กองทุน LTF ซื้อช่วงไหนดี?

สำหรับคำถามที่ว่า “ซื้อกองทุน LTF ช่วงไหนดี?” อันที่จริงก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ คุณควรจะตรวจสอบว่า คุณสามารถลงทุนกับ LTF ได้เท่าไร? แล้วต่อมาจึงเลือกช่วงเวลาลงทุน ซึ่งก็จะมีทั้งสายเปย์แบบทุ่มเงินก้อน คือทุ่มซื้อทีเดียวปลายปีเต็มแมกซ์ สายแข็งคือใจแข็งไม่ดูว่าหุ้นขึ้นหรือลง กำหนดเลยว่าจะซื้อเดือนละเท่าไหร่ แล้วก็มีวินัยทำตามแผนทุกเดือน แล้วก็มีสายช้อน รอจังหวะช้อนซื้อเวลาหุ้นลงแรงๆ กับสุดท้ายคือสายกลางคือลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน บวกกับซื้อเพิ่มเวลาหุ้นลงด้วยเพื่อให้ครบตามสิทธิลดหย่อนภาษี   
เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเดินสายไหน มาทำความเข้าใจกับ 4 วิธีนี้กันก่อนดีกว่า
 

1. สายเปย์ ทุ่มซื้อช่วงปลายปีทีเดียว

หลายคนเลือกสายนี้ด้วยเหตุผลว่า ปลายปีจะคำนวณรายได้รวมทั้งปีได้ชัดเจน ทำให้รู้ว่าควรซื้อ LTF เท่าไหร่ที่จะไม่เกิน 15% ของรายได้ เพราะนอกจากเงินเดือนเท่ากันทุกเดือนแล้ว อาจจะมี Bonus หรือ Commission และรายได้รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่แน่นอนมารวมด้วย มองจากมุมนี้ก็ถือว่าช่วยป้องกันการซื้อเกินสิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็ต้องระวังว่าเราจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการซื้อ LTF ในช่วงปลายปี ถ้าเราไม่แบ่งเงินที่รับมาแต่ละเดือนไว้บ้าง เราอาจมีเงินไม่พอที่จะซื้อ LTF ได้เต็มจำนวนที่ตั้งใจไว้ แถมช่วงปลายปีมักจะมีรายจ่ายพิเศษ อย่างของขวัญคริสต์มาส ปาร์ตี้ปีใหม่ หรือทริปส่งท้ายปี ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเยอะอีก เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นสายเปย์แบบนี้ก็ต้องเตรียมเงินไว้ดีๆ
 

อีกเหตุผลคือความเชื่อว่าการซื้อ LTF ตั้งแต่ต้นปี เหมือนเราต้องจ่ายเงินไปก่อน ทั้งๆ ที่กว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจริงๆ ก็ตั้งมีนาคมของปีถัดไป เหมือนเงินไปจมอยู่ก่อนตั้งนาน ถ้ามองอีกด้าน การลงทุน LTF เร็วก็ทำให้เงินของเรามีโอกาสเติบโตได้มากกว่าการเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากเฉยๆ ไปจนถึงปลายปี 
 
ถ้าจะบอกว่าลงทุนต้นปีแล้ว NAV แพง รอปลายปีให้หุ้นตกแบบปีที่แล้วดีกว่า NAV ลดลงไปได้ซื้อของถูก ข้อนี้ก็ไม่จริงเสมอไป ตามสถิติย้อนหลังของตลาดหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมา มี 3 ปีที่ช่วงปลายปี SET Index ต่ำกว่าต้นปี ที่เหลืออีก 7 ปีหุ้นขึ้นช่วงปลายปีทั้งนั้น จึงเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่ารอซื้อปลายปีจะได้ NAV ที่ราคาถูกกว่า (ที่มา: https://th.investing.com/indices/thailand-set )
 

แล้วถ้าจะซื้อกองทุนช่วงอื่นล่ะ? ถ้าอย่างนั้นอาจจะต้องจับจังหวะลงทุนตามตลาดหุ้นตามวิธีการ 2 นี้
 

2. สายช้อน รอจังหวะช้อนซื้อเวลาหุ้นลงแรงๆ

หลักการของวิธีนี้คือการคาดการณ์สถานการณ์ตลาดหุ้น แลัวจับจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง จึงค่อยซื้อกองทุน เพื่อให้ได้หน่วยลงทุนในราคาที่ถูกลง มีโอกาสกำไรได้มากขึ้น แต่การจะคาดการณ์ตลาดหุ้นได้ เราต้องมีการติดตามข่าวสาร วิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจมากมายที่จะมากระทบกับการขึ้นลงของราคาหุ้น และในความเป็นจริง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ณ ขณะนั้นตลาดหุ้นลดลงต่ำสุดแล้วหรือยัง ที่เราคิดว่าต่ำแล้ว อาจมีวันที่ต่ำกว่า หรือเราคิดว่ารอก่อนเดี๋ยวหุ้นจะตกอีก ปรากฎว่าดัชนีกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การจับจังหวะลงทุนให้แม่นยำ 100% จึงเป็นเรื่องยากมาก
ถ้าไม่มีเวลามาเกาะติตลาดหุ้น แล้วไม่อยากลุ้นว่าจะลงทุนถูกจังหวะมั้ย มาลองดูวิธีที่ 3 กัน


3. สายแข็ง เฉลี่ยการลงทุนทุกเดือนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA)

Dollar Cost Averaging (DCA)  หมายถึง “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย” โดยทยอยซื้อกองทุนรวมในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน เช่นตั้งใจจะลงทุน LTF ในปีนี้ 60,000 บาท ก็ลงทุนทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท โดยไม่สนใจราคาหน่วยลงทุน หรือตลาดหุ้นว่าจะขึ้นหรือลง

พูดง่ายๆ DCA คือการลงทุนแบบอัตโนมัติ จนกว่าจะครบจำนวนเงินตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 

บลจ.กรุงศรีมีบริการให้ผู้ลงทุนสามารถกำหนดรายการซื้อหน่วยลงทุนแบบประจำทุกเดือน หรือที่เรียกว่า Regular Saving Plan ได้ โดยเลือกได้เลยว่าจะให้ซื้อหน่วยลงทุนทุกวันที่เท่าไหร่ของเดือน เดือนละกี่บาทสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะเวลากี่เดือน ซึ่งอาจจะตั้งไว้ยาว 1 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้

ดังนั้น หากวันที่เรากำหนดการซื้อไว้เป็นวันที่ตลาดหุ้นตก ราคา NAV ของ LTF ลดลง เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าเดือนไหนหุ้นขึ้น NAV ปรับขึ้นในวันที่เรากำหนดซื้อไว้ เราก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง 


การลงทุนแบบ DCA มีข้อดีอย่างไร?

DCA เป็นวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มาดูกันว่าวิธีนี้มีข้อดีอย่างไร ทำไมนักลงทุนมากมายต่างเลือกใช้วิธีนี้กัน 
  •  ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะก็ลงทุนได้

ใครทุนน้อยหรือต้องการใช้เงินสดเพื่อใช้จ่ายก่อน ก็ลงทุนควบคู่ด้วยได้ไม่ยาก เพราะเฉลี่ยเงินลงทุนในแต่ละเดือนไม่มากนัก สามารถจัดสรรการเงินได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยกระจายความเสี่ยง

เมื่อตลาดอยู่ในช่วงภาวะผันผวน เราไม่รู้ชัวร์หรอกว่าตลาดจะเป็นขาขึ้น หรือ ขาลง วิธีนี้ทำให้เรามีโอกาสเฉลี่ยต้นทุนของกองทุนที่ซื้อ และอาจจะได้ผลลัพธ์ดีกว่าการเก็งจังหวะซื้อด้วยตัวเองด้วย
 

  • ช่วยให้คุณออมเงินได้ตามกำหนด

การลงทุนแบบ DCA จะช่วยสร้างวินัยแก่ผู้ลงทุน เกิดความต่อเนื่อง ยิ่งเหมาะมากสำหรับคนที่เป็นมือใหม่หัดลงทุน คนทำงานประจำก็มีความได้เปรียบ เพราะมีรายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน ถ้ากำหนดซื้อทุกวันเงินเดือนออก ก็จะช่วยให้เรา “เก็บเงิน(ไปลงทุน)ก่อนใช้” มั่นใจได้ว่าไม่ใช้เพลินจนเงินหมดแน่ๆ 
  •  ไม่ต้องติดตามภาวะตลาดตลอดเวลา

การลงทุนแบบ DCA ทำให้เราไม่ต้องคอยติดตามข้อมูลตลาดหุ้น แล้วมาเก็งว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับราคาของกองทุนว่าจะซื้อได้แพงหรือถูก การซื้อสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นการถัวเฉลี่ยราคาอยู่แล้ว จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่มีเวลาวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่กระทบกับงานที่ทำ


4. สายกลาง ลงทุนสม่ำเสมอ + ลงทุนเพิ่มบางช่วงเวลา

การลงทุนแบบนี้จะมีข้อดีเหมือนวิธีที่ 3 บวกเพิ่มด้วยความยืดหยุ่น เพราะเงินลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกกระจายลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน อีกส่วนหนึ่งนำมาลงทุนเพิ่มบางช่วงเวลา เช่น ลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ทุกเดือน พอปลายปีคำนวณรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้แน่นอนแล้ว เห็นว่ายังมีสิทธิซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก จึงค่อยซื้อกองทุนเพิ่ม หรือเดือนไหนมีรายได้เพิ่ม ก็นำมาลงทุนเพิ่มเป็นครั้งคราว เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้ซื้อ LTF ได้เต็มสิทธิภาษี 

หรือบางคนอาจนำเงินส่วนที่สองมาจับจังหวะลงทุนตามวิธีที่ 2 คือรอซื้อกองทุนเพิ่มเมื่อเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นลดลงมาเยอะ น่าจะกำลังฟื้นตัว ทำให้ได้หน่วยลงทุนราคาถูกลง

แต่ละวิธีการมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป สำหรับมนุษย์เงินดือน ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเกาะติดตลาดหุ้นอย่างจริงจัง วิธีที่ 3 กับ 4 น่าจะช่วยให้การวางแผนลงทุน LTF สะดวกและง่ายดายขึ้น และการลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือนยังทำให้ได้รับโปรโมชั่นพิเศษมากขึ้นด้วย ดูข้อมูลโปรโมชั่น   คลิกที่นี่

ส่วนจะเลือก LTF กองทุนไหนดี ลองดูข้อมูลกองทุนได้ก่อน คลิกที่นี่


สรุป

เราสามารถลงทุนได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นต้นปีหรือปลายปี สำหรับคำถามว่าช่วงเวลาใดที่เรียกว่าดีที่สุด คงต้องบอกว่า “ดีที่สุด” สำหรับแต่ละคนอาจจะต่างกัน  ขึ้นกับมุมมองการลงทุนและสไตล์การบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของตนเอง แแต่ถ้าหากคุณตัดสินใจลงทุนแบบ DCA คือกำหนดซื้อกองทุนไว้แล้วสม่ำเสมอทุกเดือน คุณก็ไม่จำเป็นต้องคอยติดตามตลาดหุ้นหรือวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เพื่อหาจังหวะลงทุนเป็นเงินก้อน การลงทุนของคุณก็จะง่ายขึ้น


สนใจเริ่มต้นวางแผนลงทุนแบบประจำ (Regular Saving Plan)  คลิกที่นี่ 


อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน  ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก   คู่มือการลงทุน LTF | RMF คลิกที่นี่
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว