โอกาสดีๆ ของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ
ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด
ข้อมูลจาก
www.settrade.com ระบุว่า ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566
อัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย (dividend yield) อยู่ที่ 3.26% ในขณะที่ ข้อมูลจาก www.thaibma.or.th ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (government bond yield) อายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.36% จะเห็นได้ว่าอัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดหุ้นอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี การลงทุนในตลาดตราสารหนี้จึงมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นมาก เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า และความผันผวนของราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความเสี่ยงขาลงจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช้ากว่าที่ประเมินไว้ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายท่านประเมินว่า
การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมามาก เป็นโอกาสที่ดีในการทยอยลงทุน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตดี โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กอปรกับคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ และปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเติบโตได้ดี
สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุนที่คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ในระดับต่ำกว่าตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield) แต่ไม่ต้องการเสี่ยงมากจากการลงทุนในตลาดหุ้น การลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ (preferred stock) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
หุ้นบุริมสิทธิ เป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งเจ้าของกึ่งเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือ
ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่จะได้สิทธิในการได้รับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน และได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ นอกจากนี้ จะได้สิทธิในการเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญแต่หลังเจ้าหนี้ ทั้งนี้ หุ้นบุริมสิทธิอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น หุ้นบุริมสิทธิแบบสะสมและไม่สะสมเงินปันผล หุ้นบุริมสิทธิที่ไถ่ถอนคืนได้และไถ่ถอนคืนไม่ได้ หุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้และแปลงสภาพไม่ได้ เป็นต้น
การลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในไทยอาจไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนนิยมลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำมากกว่า อีกทั้งหุ้นบุริมสิทธิมีสภาพคล่องต่ำ อย่างไรก็ดี
นักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ ที่เน้นลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในต่างประเทศ เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ
ทั้งนี้ ก่อนการระบาดของโควิด-19 กองทุนหุ้นบุริมสิทธิให้ผลตอบที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าบริษัทต่างๆจะมีผลประกอบการแย่ลง และไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ และในช่วงของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น กองทุนหุ้นบุริมสิทธิก็ได้รับผลกระทบจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผลต่างระหว่างอัตราเงินปันผลจากหุ้นบุริมสิทธิกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแคบลง ดังนั้น ในช่วงการระบาดของโควิด กองทุนหุ้นบุริมสิทธิปรับตัวลดลงมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ แต่ลดลงน้อยกว่ากองทุนหุ้น (สามัญ) ในขณะที่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ตลาดหุ้นหลายประเทศกลับปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด ส่วนกองทุนตราสารหนี้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น และเริ่มกลับมาฟื้นตัวเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางในหลายประเทศจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยและอาจปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า ในส่วนของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ ยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มองไปที่หุ้นสามัญ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในบางช่วงหุ้นบุริมสิทธิยังได้รับผลกระทบจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม การที่ตลาดหุ้นบุริมสิทธิยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้อัตราเงินปันผลของกองทุนหุ้นบุริมสิทธิบางกองในปัจจุบันอยู่สูงกว่า 9%
การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัว ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในลำดับถัดไป จะส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิมีสูงขึ้นตามช่วงกว้างของอัตราผลตอบแทนที่มากขึ้น
สำหรับกองทุนที่ลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิในไทยยังมีอยู่น้อย และไม่ได้ลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด เนื่องจากปริมาณหุ้นบุริมสิทธิในตลาดมีจำกัด โดยอาจมีการลงทุนบางส่วนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นบุริมสิทธิ กล่าวคือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิมีโอกาสในการรับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน แต่มีกำหนดอายุ และมีสิทธิเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ ดังนั้น หากนักลงทุนสนใจสนใจที่จะลงทุนในกองทุนหุ้นบุริมสิทธิ และยอมรับความเสี่ยงที่อาจมีการขาดทุนในบางช่วงได้ นักลงทุนอาจสอบถามรายละเอียดจากตัวแทนขาย และศึกษาข้อมูลรายละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุน
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
แนะนำกองทุน KFPREFER คลิก
ย้อนกลับ