จับตาสัญญาณโตของตลาดหุ้นญี่ปุ่น


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ดัชนี NIKKEI225 ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมาแล้ว 29.17% เทียบกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น 14.84% และดัชนี SET ของไทยที่ปรับตัวลดลง 6.55% ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นมากในปีนี้

ในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมักไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตในอัตราที่ต่ำต่อเนื่อง และมักประสบปัญหาเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ เช่น จำนวนประชากรลดลง จำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดและภาคการผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นตลาดที่ติดกับดักแห่งคุณค่า (value trap) มานาน โดยบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับส่วนแบ่งตลาด กักตุนเงินสด และไม่สนใจผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น

จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจยุโรปเติบโตในอัตราต่ำ อีกทั้งเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป และธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัว 

ในทางตรงกันข้าม นโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากและเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปีนี้เติบในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐและยุโรป และมีแนวโน้มที่จะเติบโตดีต่อเนื่องจากแรงหนุนของการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยนอันเป็นผลมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญ บ่งชี้ว่าภาคบริการของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน และภาคการผลิตกลับมาขยายตัวในเดือนพฤษภาคม

ในด้านมูลค่าพื้นฐาน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีค่า P/E และ P/B ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป สะท้อนว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า นอกจากนี้ ทางตลาดหุ้นญี่ปุ่นพยายามปฏิรูป โดยผลักดันให้บริษัทในตลาดให้บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/B ต่ำกว่า 1 เท่า) ซึ่งมีอยู่ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนบริษัททั้งหมดที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ราคาหุ้นสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐาน ส่งผลให้ ณ ปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นได้ทำการซื้อหุ้นคืนมากที่สุดในรอบ 16 ปี

ด้วยเหตุเหล่านี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังได้เปิดเผยว่า บริษัท Berkshire Hathaway ของเขาได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบริษัทญี่ปุ่น 5 แห่ง ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและผลักดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น

ตลาดคาดว่าค่าเงินเยนจะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ  โดยการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นมีมากขึ้น การส่งออกของญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในต่างประเทศส่งเงินกลับญี่ปุ่น ก็จะได้เงินมากขึ้นเมื่อแปลงกลับเป็นเงินเยน ซึ่งจะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่น ในด้านการท่องเที่ยวก็คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยนเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นจะมีความรู้สึกว่ามีค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกลง และราคาสินค้าถูกลง จึงอาจมีการใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้

สำหรับความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ได้แก่ การที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ) ท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีคนในวัยทำงานอีกราว 1.2 ล้านคน (ประมาณ 1.6% ของประชากรทั้งหมด) ที่หันหลังให้กับสังคม โดยเลือกที่จะอยู่คนเดียว ไม่ไปทำงาน ไม่ไปโรงเรียน เนื่องจากมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อตนเอง (กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเรียกกลุ่มคนประเภทนี้ว่า ฮิคิโมริ) ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว 

ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงอาจต้องใช้การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่แตกต่างออกไปจากตลาดอื่นๆ เนื่องจากมีปัญหาเฉพาะในเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น ส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นออกไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีแรงงานรองรับเพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรติดตามว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้ดีเพียงใด

ทั้งนี้ กองทุนของไทยที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีให้เลือกอยู่มากพอสมควร แต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตต่ำ และมีตลาดหุ้นอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ามาก
อย่างไรก็ดี การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ท่ามกลางนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย ผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการปฏิรูปตลาดหุ้นเพื่อให้หลุดพ้นจาก value trap  สำหรับการลงทุนในระยะยาว นักลงทุนควรต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และหากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปกลับมาฟื้นตัว จะส่งผลให้เงินลงทุนไหลออกจากญี่ปุ่นมากน้อยเพียงใด
 
กองทุนกรุงศรีที่เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น  ได้แก่ KFJPINDX-A
 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา



ข้อมูลกองทุน KFJPINDX-A คลิก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว