เศรษฐกิจโลกหนุนบรรยากาศการลงทุนตอนนี้อย่างไร


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


บรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนหลักจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ค่อยๆ ปรับตัวลดลง และตัวเลขเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด เป็นสัญญาณว่า ผู้บริโภคสหรัฐจะยังคงมีความสามารถในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลให้อำนาจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีมากขึ้น กอปรกับสหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ จึงมีโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐจะมีมาตรการหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

ทางด้านยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศยุโรปตอนใต้ ได้แก่ อิตาลี และสเปน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน อย่างไรก็ดี PMI ของเยอรมนีและฝรั่งเศส ยังคงบ่งชี้ถึงการหดตัว ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรปคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.6% ในปีนี้ และโต 1.5% ในปีหน้า โดยที่ธนาคารกลางคาดว่าปัญหาในทะเลแดงจะส่งผลกระทบต่อปัญหาห่วงโซ่อุปทานอย่างจำกัด และเศรษฐกิจยูโรโซนจะเร่งตัวขึ้นหลังจากธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในช่วงฤดูร้อนนี้

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณดีขึ้นหลังการเปิดเผยจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 0.4% ซึ่งดีกว่าที่รายงานไปก่อนหน้านี้ว่าหดตัว 0.4% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านทุน เป็นสัญญาณว่าภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงมีการลงทุนมากขึ้น ในขณะที่การเจรจาค่าจ้างแรงงานประจำปีมีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นสูงถึง 5.28% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 33 ปี และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.9% การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้จะส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และช่วยให้ธนาคารกลางมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ระดับเป้าหมายอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ตลาดธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ โดยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่ย้ำว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ และภาพรวมของนโยบายการเงินจะยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย

สำหรับประเทศจีน อัตราเงินเฟ้อของจีนพลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้การประชุมสภาประชาชนที่จบไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการประกาศมาตรการด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ การเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้าลงทุนในจีนได้มากขึ้น การส่งเสริมให้คนจีนมีบุตรมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ตลาดยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ตามมา

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน โดยได้แรงหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ในช่วง 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีมากกว่า 8.07 ล้านคน และหลายฝ่ายเริ่มปรับคาดการณ์ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 35 ล้านคนในปี 2567 นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากการเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณ หลังจากที่ล่าช้ามานานพอสมควร อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสินค้าไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าในโลกยุคเก่า จึงอาจต้องใช้เวลาและแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกได้ทยอยตอบรับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้มาบ้างแล้ว และส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงตอบรับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จากผลของการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักทั่วโลก โดยเฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดจากระดับปัจจุบันที่ 5.5% สู่ 4.75% ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่ในปีหน้าคาดว่าจะประกาศลดดอกเบี้ยลงสู่ 4.00% และสู่ 3.25% ในปี 2569 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวจะอยู่ที่ 2.75% เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะถูกกระตุ้นจากการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องราว 3 – 4 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ดี ตลาดอาจมีความผันผวนจากหลายปัจจัย เช่น แรงขายทำกำไรหลังเฟดประกาศลดดอกเบี้ยตามคาด ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของภาคการผลิตในหลายประเทศที่อาจช้ากว่าที่คาดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าในโลกยุคเก่าเช่นเดียวกันกับสินค้าไทย ฯลฯ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลและลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้

บลจ.กรุงศรี แนะนำกองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ KFGLOBAL-A 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา



ข้อมูล KFGLOBAL-A คลิก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว