ผลเลือกตั้งจะเปลี่ยนทิศเศรษฐกิจยุโรปจริงหรือ?


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด



ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งใน 2 ประเทศเศรษฐกิจหลักในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยพรรคเลเบอร์ หรือพรรคแรงงานของอังกฤษชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอยต่อพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือพรรคอนุรักษ์นิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ส่งผลให้เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ เป็นผู้นำพรรคแรงงานคนแรกในรอบ 14 ปีที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่การเลือกตั้งในฝรั่งเศสในการเลือกตั้งรอบแรกฝ่ายขวาจัดนำโดยนางมารีน เลอ แปน ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ตามด้วยฝ่ายกลางนำโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง มาเป็นอันดับ 2 และกลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายมาเป็นอันดับ 3 แต่ในการเลือกตั้งรอบ 2 กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายพลิกกลับมาได้อันดับ 1 ตามด้วยฝ่ายกลาง และส่งผลให้ฝ่ายขวาจัดหล่นไปอยู่อันดับ 3 โดยที่การที่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากในสภามีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง

ชัยชนะอย่างถล่มทลายของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ในสหราชอาณาจักร สะท้อนถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของชาวอังกฤษ ที่ประสบปัญหาหลายๆ ด้านภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างต่อเนื่อง ที่อยู่อาศัยในอังกฤษมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งการที่พรรคอนุรักษ์นิยมเป็นแกนนำลงมติให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง การค้า และการเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงของยุโรป ดังนั้น ตลาดจึงคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ จะนำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกลับมาเติบโตดีอีกครั้ง

สำหรับภาพของผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศส มีแนวโน้มที่จะส่งผลในทิศทางตรงกันข้ามกับของสหราชอาณาจักร โดยเศรษฐกิจฝรั่งเศสยังคงอ่อนแอ มีหนี้สินอยู่ในระดับสูง และสุ่มเสี่ยงที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะปรับลดอันดับเครดิตของฝรั่งเศสลง  นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมที่จะพิจารณาลงโทษฝรั่งเศสจากการที่ไม่สามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ของจีดีพีได้ การที่ไม่มีฝ่ายใดครองเสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด อาจส่งผลให้เกิดทางตันทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการเงินและการคลัง  ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่ในยุโรปได้

ในด้านตลาดหุ้นยุโรป เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้อ้างอิงถึงการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป พบว่าหุ้นของบริษัทในสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนในดัชนีสูงที่สุดที่ประมาณ 23% ตามด้วยหุ้นของบริษัทในฝรั่งเศสที่ราว 17% และหุ้นของบริษัทในสวิสเซอร์แลนด์มาเป็นอันดับ 3 ที่ประมาณ 14%  แต่หากดูที่หุ้น 10 บริษัทแรกที่มีน้ำหนักในดัชนีมากที่สุด พบว่า หุ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุดเป็นหุ้น NOVO NORDISK ของเดนมาร์ก ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Healthcare มีน้ำหนักในดัชนีเกือบ 4% ตามด้วย ASML HOLDING ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Technology มีน้ำหนักในดัชนีราว 3.5% และหุ้น NESTLE ของสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีน้ำหนักในดัชนีประมาณ 2.3% โดยที่หุ้นของบริษัทฝรั่งเศสที่มีน้ำหนักในดัชนีมากที่สุด ได้แก่ LVMH ซึ่งมีน้ำหนักราว 1.7%  โดยหากดูเฉพาะน้ำหนักในดัชนีของหุ้น 10 บริษัทแรก อาจดูเหมือนว่าผลกระทบจากความวุ่นวายในฝรั่งเศสที่มีต่อตลาดหุ้นยุโรปไม่น่าจะรุนแรง  แต่หากดูในลำดับถัดไปจะพบว่ามีบริษัทฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก เช่น TOTAL ENERGIES, SANOFI, L’OREAL, SCHNEIDER ELECTRIC, AIRBUS, HERMES, BNP PARIBAS เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการเลือกตั้งของฝรั่งเศสจะเป็นปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นฝรั่งเศสและตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรปลง เพราะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในยุโรปมีความเชื่อมโยงกัน อีกทั้งฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยูโรโซน โดยที่เยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ยังคงอ่อนแอ การชะงักงันทางการเมืองในฝรั่งเศส ซึ่งจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาล รวมถึงการที่ผลการเลือกตั้งรอบแรกกับรอบ 2 มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สะท้อนว่าชาวฝรั่งเศสมีความแตกแยกทางความคิดอย่างเห็นได้ชัดระหว่างฝ่ายขวาจัดกับฝ่ายซ้าย และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายภายในประเทศก่อนที่กีฬาโอลิมปิกในกรุงปารีสจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  

ทั้งนี้ ตลาดยังคงคาดหวังว่าปัญหาการเมืองในฝรั่งเศสจะได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที โดยก่อนหน้านี้ นางมารีน เลอ แปน ได้ระบุว่าสามารถทำงานร่วมกับประธานาธิบดีมาครงได้ ซึ่งหากเป็นไปในแนวทางนี้ ยุโรปอาจมีความกังวลมากขึ้น เนื่องจากนางเลอ แปน มีแนวคิดที่จะออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน (Frexit) สำหรับอีกแนวทางหนึ่ง อาจเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคฝ่ายกลางกับพรรคซ้ายกลาง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากพรรคฝ่ายซ้ายกระจัดกระจายเป็นหลายกลุ่ม จึงง่ายต่อการดึงพรรคฝ่ายซ้ายบางส่วนเข้าร่วมรัฐบาล หรืออาจมีการจัดจั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยนายมาครง ยังคงเป็นประธานาธิบดี และให้ผู้นำพรรคร่วมจากฝ่ายซ้ายเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรรอดูความชัดเจนของทิศทางการเมืองของฝรั่งเศสก่อนการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากมีผลอย่างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม

กองทุนหุ้นยุโรปแนะนำ คลิก: KF-EUROPE | KFHEUROP-A | KFEURORMF
 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว